รัฐสภา 8 ม.ค.-“อัจฉริยะ” รื้อคดีแตงโมไม่สำเร็จ กมธ.กฎหมายฯ ชี้ไม่มีหลักฐานใหม่ ห่วงก้าวก่ายอำนาจศาล โต้เดือดหวิดวอล์กเอาท์
การประชุมคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร มีนายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ เป็นประธาน มีวาระพิจารณาศึกษาแนวทางการดําเนินการทางกฎหมายตามกระบวนการยุติธรรม กรณีคดีการเสียชีวิตของนางสาวภัทรธิดา พัชรวีระพงษ์ หรือ แตงโม กรณีหากปรากฏพยานหลักฐานใหม่ หลังนายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงษ์ ได้เข้ายื่นเรื่องร้องเรียนต่อกรรมาธิการ โดยเชิญบุคคลและผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล
นายอัจฉริยะได้พูดถึงข้อร้องเรียน ในช่วงแรกของการประชุมว่าได้ถูกอดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เรียกขึ้นไปเรียกไปพบ เมื่อปี 2565 ร่วมกับตำรวจชุดทำคดีแตงโม เพื่อขอไม่ให้ตนทำคดีแตงโม เนื่องจากต้องการให้ตนช่วยคนบนเรือคนหนึ่ง แต่ไม่ให้เพราะมองว่าเป็นการทำลายกระบวนการ ประกอบกับแตงโมเป็นดาราชื่อดัง มันไม่ใช่จะมาลงข้อหาประมาท และตามความเชี่ยวชาญของตนเห็นว่าคนที่ตกท้ายเรือ ไม่มีทางโดนใบพัดเรือได้ ซึ่งได้เรียนอดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติไปถึง ข้อสังเกตดังกล่าว แต่เขาก็ยังยืนยันที่จะขอเนื่องจากคนตายไปแล้ว แต่ตนไม่ยอมจากนั้นจึงถูกยัดข้อหามาโดยตลอด รวม 6 คดี แต่ได้ใช้พยานหลักฐานที่ได้พูดคุย จน ศาลอาญายกฟ้อง
นายอัจฉริยะ ยังยืนยันว่าการเก็บพยานหลักฐานในคดีแตงโมมีข้อพิรุธหลายอย่าง ทั้งเรื่องการเก็บเส้นผม จากนั้นนายอัจฉริยะได้เปิดภาพเส้นผมบาดแผล แสดงต่อกรรมาธิการ เพื่อตอกย้ำว่าแผลไม่ได้เกิดจากใบพัดเรือน่าจะเกิดจากของมีคม และทันทีที่นายอัจฉริยะ เปิดผลทางนิติเวช เพื่อบอกว่า ศพของแตงโมไม่มีบาดแผลอื่นนอกจากแผลที่ขาขวา
ทำให้นายอุดมวิทย์ อริยสุนทร รองอธิบดีอัยการภาค 1 ยกมือทักท้วงว่า ประธานในที่ประชุม แจ้งแล้วว่า เรื่องนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาคดีของศาล แต่หลักฐานที่กำลังเปิด อยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของศาล จากนั้นนายอัจฉริยะ ได้อธิบายต่อ ว่าข้อพิรุธในคดีนี้ ยังมีการแก้ไข GPS ของคนบนเรือ ที่ตำรวจแสดงหลักฐานเท็จในงานแถลงข่าว 26 เมษายน 2565 และยังมีการทำหลักฐานเท็จอีกหลายชิ้น จากนั้นประธานในที่ประชุมได้สรุปว่าการหยิบยกเรื่องแตงโม มาหารือในวันนี้เพราะต้องการรู้ว่ามีพยานหลักฐานใหม่ ที่จะนำไปสู่การรื้อคดีได้หรือไม่ และหากนำไปสู่การรื้อคดีได้ จะต้องเดินหน้าไปฟ้องหรือส่งเรื่องดังกล่าวให้หน่วยงานใด
ทำให้นายประยุทธ์ ศิริพานิช สส. บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทยโต้แย้งว่า การที่นายอัจฉริยะ กล่าวหาบุคคลอื่น ว่าผิดแล้วทุจริต ไม่สามารถนำมาใช้เป็นประโยชน์ในการพิจารณาเรื่องนี้ได้ มันไม่ใช่ประเด็นที่กรรมาธิการอยากรู้ สิ่งที่ต้องการคือมีพยานหลักฐานใหม่อย่างไร นอกเหนือจากนอกเหนือจากสิ่งที่เขากำลังดำเนินการอยู่ แต่ถ้านายอัจฉริยะออกมากล่าวหาเช่นนี้ การประชุมต่อไปก็จะเกิดปัญหา คนในที่ประชุมก็จะไม่ได้อะไร ทำงานต่อไปไม่ได้
ทำให้นายกมลศักดิ์ ย้ำกับนายอัจฉริยะให้พูดข้อเท็จจริง ซึ่งนายอัจฉริยะก็ได้ย้ำอีกครั้งว่า มีการทุจริตเกิดขึ้นจริง และมีการพิสูจน์ความจริงในชั้นศาลอาญาไปแล้ว และตนมองว่าคำร้อง ของอัยการในคดีแตงโม มีแต่พฤติการณ์และความประมาทของคนบนเรือแต่ไม่ได้พูดถึงเรื่องของบาดแผล ที่ไม่ได้เกิดขึ้น จากใบพัดเรือ ทำไมตำรวจไม่ทำเรื่องนี้ให้ครบถ้วน เมื่อขอให้มีการตรวจเรือใหม่ก็ไม่ยินยอม หากโปร่งใสจริงต้องยินยอม และตนสงสัยว่าเหตุใดถึงตั้งข้อหาคนบนเรือว่าร่วมกันประมาท เพราะมันไม่เคยมีในกฎหมายอาญา
นายสุทัศน์ เงินหมื่น ที่ปรึกษากรรมาธิการ ตั้งข้อสังเกตถึงอำนาจหน้าที่ของกรรมาธิการว่า ไม่ควรพิจารณาเรื่องที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคดี มิฉะนั้นอาจจะถูกตรวจสอบหรือร้องเรียนได้ในภายหลัง ดังนั้น วันนี้ กมธ.ของเรา ควรจะ ฟังความคิดเห็นของผู้ร้อง แต่ไม่จำเป็นต้องให้ผู้ถูกร้อง มาชี้แจง เพราะอาจจะนำไปสู่ประเด็นการฟ้องร้องในภายหลัง และไม่ควรที่จะวินิจฉัยเรื่องนี้ว่าใครผิดใครถูก ประธานในที่ประชุมจึงกล่าวย้ำกับนายอัจฉริยะว่า ขอให้พูดแต่ข้อเท็จจริง และไม่ควรทำให้เสียรูปคดี ส่วนผู้ชี้แจงหากเห็นว่ามีผลต่อรูปคดีก็ไม่ต้องชี้แจง
ทำให้นายอัจฉริยะแสดงความไม่พอใจ พร้อมกับกล่าวว่าตนโดนฟ้อง 5 คดี ยังไม่ได้พิพากษา การที่ตำรวจรับฟังฝ่ายเดียวโดยไม่ชี้แจงเหตุผล ตนว่าไม่แฟร์ ถ้าเป็นเช่นนั้นจะขอ Walk Out ออกจากห้องประชุม ทำให้พันเอกนายแพทย์ธวัชชัย กาญจนริทร์ แพทย์ผู้ส่งคุณวุฒิด้านนิติเวชศาสตร์ และประธานในที่ประชุมได้ห้ามไว้ ขอให้เราฟังข้อมูลจากฝ่ายผู้มาชี้แจงก่อน
นายอุดมวิทย์ ได้ชี้แจงว่าคดีนี้ พวกตนไม่เกี่ยวข้อง และวันที่ 29 มกราคมนี้ จะมีการสอบพยานปากสุดท้าย และพิจารณาตัดสินคดีนี้แล้ว แต่สิ่งที่อยากจะพูดกับนายอัจฉริยะคือ ในคดีหมิ่นประมาทเจ้าพนักงาน ขออย่าเพิ่งหลุดประเด็น แม้ศาลชั้นต้นจะยกฟ้องแล้ว แต่ถ้าเกิดการอุทธรณ์ แล้วศาลอุทธรณ์กลับคำพิพากษา อย่าลืมคดีนี้ มันสามารถสู้ถึงศาลฎีกาได้
ผู้สื่อข่าวรายงานบ้านหลังเปิดให้สื่อมวลชนสังเกตการณ์และฟังการประชุมระยะหนึ่งได้เชิญสื่อมวลชนออก และประชุมต่อไปอีกประมาณ 1 ชั่วโมง ก่อนที่นายกมลศักดิ์จะแถลงว่า เนื่องจากคดีของดาราสาวแตงโมอยู่ในการพิจารณาของศาล กรรมาธิการไม่มีอำนาจไปก้าวล่วงกระบวนการยุติธรรม การสืบพยาน จึงพยายามสอบถามว่าพยานหลักฐานใหม่ที่อ้างว่าไม่ปรากฏอยู่ในสำนวนคดีคืออะไร ซึ่งนายอัจฉริยะได้หยิบยกสำนวนคดีที่ถูกฟ้องฐานหมิ่นประมาท มาอ้างอิง ขณะที่ พันเอกนายแพทย์ธวัชชัย ได้แสดงหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ เพื่อชี้ให้เห็นถึงพิรุธ ว่าบาดแผลที่เกิดขึ้นไม่น่าจะมาจากใบพัดเรือ แต่หลักฐานที่นำมาเปิดเผยต่อที่ประชุมส่วนใหญ่เป็นหลักฐานที่เคยเปิดเผยที่อื่นมาแล้วและเป็นข่าวไปแล้วไม่มีพยานหลักฐานใหม่ที่มาเปิดที่นี่เป็นครั้งแรก ซึ่งนายอัจฉริยะจึงได้ทำหนังสือถึงอัยการจังหวัดนนทบุรีอัยการภาคหนึ่ง และอัยการสูงสุด เพื่อขอแก้ไขคำฟ้องก่อนที่ศาลชั้นต้นจะมีคำวินิจฉัย โดยรองอัยการภาคหนึ่งได้แจ้งต่อที่ประชุมกรรมาธิการว่า หนังสือดังกล่าวอยู่ระหว่างตรวจสอบพยานหลักฐาน ก็ขึ้นอยู่กับดุลย์พินิจของอัยการ หากเห็นว่าหลักฐานที่ส่งมาไม่ปรากฏอยู่ในสำนวน สมควรที่จะแก้ไขคำร้อง ก็สามารถแก้ไขคำฟ้องได้
ขณะเดียวกัน นายอัจฉริยะ ยังได้ส่งหนังสือไปถึงกระทรวงยุติธรรม ซึ่งทราบว่าในวันที่ 16 มกราคมนี้ จะมีการจำลองเหตุการณ์ และดีเอสไอจะไปร่วมสังเกตการณ์ด้วย
นายกมลศักดิ์ ยืนยันว่า คณะกรรมาธิการจะไม่ไปก้าวล่วง สำนวนคดีการประมาท ที่ทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ที่ศาลจังหวัดนนทบุรี แต่หลังจากนี้จะติดตามว่าพยานหลักฐานใหม่จะดำเนินการอย่างไร.-319.-สำนักข่าวไทย