รัฐสภา 8 ม.ค.-วิป 3 ฝ่ายเห็นพ้อง เลื่อนถกแก้ รธน. 256 ไปอีก 1 เดือน เพื่อความรอบคอบ แต่ไม่กระทบกรอบเวลา เพราะต้องรอยืนยันร่าง พ.ร.บ.ประชามติฯ 180 วัน ด้านประธานวิปรัฐบาล รับ ครม.ไม่เสนอร่างประกบ เหตุพรรคร่วมบางพรรคไม่พร้อม ส่วน สว.แย้มส่วนใหญ่ไม่หนุนแก้ 256
นายวันมูหะะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานรัฐสภาเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการประสานงาน (วิป) พรรคร่วมรัฐบาล ฝ่ายค้าน ตัวแทนวุฒิสภาและ ตัวแทนคณะรัฐมนตรี เพื่อหารือกำหนดเวลาในการ พิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ
ประธานรัฐสภา เปิดเผยภายหลังการหารือว่า ที่ประชุมเห็นพ้องกันว่า จะให้มีการพิจารณา ร่าง รัฐธรรมนูญมาตรา 256 ในวันที่ 13-14 กพ. และน่าจะลงมติวาระที่1ได้ใน วันที่ 14 กพ. ซึ่งเป็นวันวาเลนไทน์ วันแห่งความรักพอดี อาจจะเป็น การประชุมที่เต็มไปด้วยความรัก ต่อประชาชน และเมื่อครบกำหนด180วันแล้ว ก็สามารถ นำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านความเห็นชอบไปทำประชามติ ตามกฎหมายประชามติ ที่สภาผู้แทนราษฎรยืนยันได้ และตามกฎหมายนี้ จะต้องทำประชามติ 2 ครั้งโดย
หากผ่านวาระสามแล้ว จะต้องไปถามประชาชน ว่าเห็นชอบกับการให้มี สสร.มายกร่าง รัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่ หากประชาชนเห็นชอบจึงจะทำการเลือก สสร.ได้ และเมื่อร่าง เสร็จแล้วนำมาผ่านความเห็นชอบจากสภาแล้วจึงจะไปถามประชาชนอีกรอบหนึ่ง ถ้าประชาชนเห็นชอบก็เป็นไปตามขั้นตอน รอนำขึ้นทูลเกล้าฯ ต่อไป แต่ถ้าประชาชนไม่เห็นชอบก็ถือว่าจบกันไปและถือว่าทุกฝ่ายได้ทำหน้าที่ อย่างเต็มที่แล้ว
ทั้งนี้ ยืนยันว่าการเลื่อนเวลาไปอีก 1เดือนโดยไปพิจารณาในกุมภาพันธ์ ก็ไม่กระทบกับกรอบเวลา เนื่องจากแม้พิจารณาเสร็จเร็ว ก็จะต้องรอ ร่าง พ.ร.บ. ประชามติครบ 180 วัน ซึ่งเหลือเวลาอีก ร้อยกว่าวัน เพื่อจะต้องทำประชามติ ถามประชาชน ดังนั้นคิดว่าพิจารณาด้วยความรอบคอบทุกสาระกระบวนความและทุกฝ่าย ร่วมพิจารณาด้วยความรอบคอบก็ไม่ถือว่าช้าเกินไป เพราะตนอยากให้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปด้วยดี และทุกคนรับผิดชอบร่วมกัน
ส่วนจะมีความหวังได้รัฐธรรมนูญใหม่ทันสภาชุดนี้หรือไม่นั้นนายวันมูหะะมัดนอร์ กล่าวว่า ในขั้นตอนนี้ยังไม่สามารถจะพูดได้ว่าจะได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ เพราะต้องขึ้นอยู่กับการประชุมร่วมกันของรัฐสภา อย่างน้อย 2ครั้ง ครั้งแรกคือ จบวาระสาม และ การให้ความเห็นชอบ หลังจากที่ สสร ยกร่าง รัฐธรรมนูญใหม่แล้ว อีกทั้งประชาชน ก็จะต้องให้ความเห็นชอบด้วย อย่างน้อย2รอบ ฉะนั้นทั้งหมดเป็นความหวังว่าน่าจะได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่หน้าตาจะเป็นอย่างไรก็ยังไม่ทราบว่า สสร. จะยกร่างมาอย่างไร แต่ต้องอยู่ในกรอบที่รัฐธรรมนูญ 2564 ที่บัญญัติไว้ประกอบกับ การแก้ไขมาตรา 256
ด้านนายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ ประธานวิปรัฐบาล กล่าวว่าเหตุที่ต้องทอดเวลาออกไปอีกหนึ่งเดือนเพราะมองว่ารัฐธรรมนูญ เป็นกฎหมายสำคัญ มีผลกระทบกับประชาชนทั้งประเทศ ดังนั้นเพื่อให้เกิดความรอบคอบ ซึ่งร่างกฎหมายที่เสนอเข้ามาทาง สว.ก็ยืนยันว่าจะต้องขอไปพิจารณาศึกษา ก่อน
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของคณะรัฐมนตรี จะไม่มีการเสนอร่างแก้ไข รัฐธรรมนูญมาตรา 256 แต่จะให้โอกาสพรรคการเมืองอื่น ซึ่งนายชูศักดิ์ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้ชี้แจงร่าง แก้ไขของพรรคเพื่อไทยให้คณะรัฐมนตรีได้รับทราบ เพื่อให้แต่ละพรรค ที่คิดจะแก้ไขได้ไปเตรียมการและเสนอร่างแก้ไข รัฐธรรมนูญ เข้ามาให้สภาพิจารณาจึงต้องให้โอกาสทุกพรรคไปทำหน้าที่ ของตัวเอง ซึ่งขณะนี้ยังมีเวลาอยู่
ส่วนที่มองกันว่าเป็นนโยบายของรัฐบาลเหตุใดจึงไม่เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยคณะรัฐมนตรีนั้น นายวิสุทธิ์กล่าวว่า รัฐบาลประกอบด้วยหลายพรรคและได้พูดคุยกันแล้ว บางพรรคก็ยังไม่พร้อม ดังนั้น จึงเปิดโอกาสให้พรรคร่วมรัฐบาลว่าหากไหนพร้อม ที่จะเสนอ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเราก็ยินดี และถือว่าทำงานร่วมกัน
ขณะที่นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่าความจริงแล้วฝ่ายค้านไม่ค่อยเห็นด้วยกับการทอดเวลาออกไป โดยอยากให้เลื่อนไปแค่สองสัปดาห์ เพื่อจะได้มีเวลา ในชั้นกรรมาธิการฯ ได้ศึกษาและพิจารณาอย่างรอบคอบ แต่ก็เข้าใจดีในเหตุผลที่ทางวุฒิสมาชิก ขอเวลาในการศึกษาร่าง แก้ไขรัฐธรรมนูญก่อน จึงพบกันครึ่งทาง และเราก็คิดว่าไม่ได้กระทบกับกรอบเวลามากนัก เพราะในชั้นกรรมาธิการฯก็สามารถนัดประชุมบ่อยขึ้นได้ ดังนั้นแม้เห็นไม่ตรงกัน แต่อยากให้ทุกอย่างเป็นไปอย่างราบรื่น
นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร สว. ยืนยันว่าในส่วนของสวไม่มีสัญญาณอะไรในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะทุกคนเป็นอิสระ แต่เห็นว่าเรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องใหญ่ของประเทศ และเท่าที่คุยกันนอกรอบกับพรรคเพื่อไทย บอกว่าจะมีร่างแก้ไขเพิ่มเติม รัฐธรรมนูญประกบเข้ามาอีก ทางสว. ต้องใช้เวลาในการศึกษา อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าเท่าที่พูดคุยกันในส่วนของสว. ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไข รัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เพราะ มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเอาไว้แล้ว กังวลว่าจะเสี่ยง ดังนั้น สว.จึงต้องการศึกษาให้ละเอียดก่อน และแน่นอนว่า หากไม่ชัดเจน คงไม่ โหวตให้ เพราะเรื่องนี้มีทั้ง สว.เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยเป็นเอกสิทธิ์เฉพาะตัว.-312.-สำนักข่าวไทย