เอสเอ็มอีแบงก์ 28 พ.ย.-เอสเอ็มอีแบงก์ให้บริการรับคำขอเครดิตบูโร เชื่อทำให้เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น
นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว. หรือ SME Development Bank) ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับนายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) เพื่อเป็นตัวแทน “รับใบคำขอตรวจเครดิตบูโร” ผ่านที่ทำการสาขาของเอสเอ็มอีแบงก์ 95 สาขาทั่วประเทศ ให้กับบุคคลทั่วไป เพื่ออำนวยความสะดวกรวดเร็วในการตรวจสอบประวัติทางการเงินของตนเอง ผ่าน Counter Service เอสเอ็มอีแบงก์ นำร่อง 4 สาขา ประกอบด้วย สาขาเชียงใหม่ สาขาขอนแก่น สาขาพิษณุโลก และสาขาสุราษฎร์ธานี เนื่องจากเป็นสาขาที่ตั้งอยู่ในจังหวัดใหญ่ที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจ มีผู้ประกอบการทำธุรกิจการค้า หรือธุรกรรมทางการเงินจำนวนมาก
จากนั้นในปีหน้า ธพว. มีแผนขยายให้บริการยื่นคำขอตรวจเครดิตบูโร ครอบคลุมทุกสาขาทั่วประเทศ ประชาชนเสียค่าธรรมเนียมตรวจเครดิตบูโร 150 บาทต่อรายการ เพื่อให้ผู้ประกอบการวางแผนทางการเงิน เพื่อสร้างวินัยการออมและวางแผนการลงทุน ปัจจุบันเอสเอ็มอีแบงก์ได้ปล่อยสินเชื่อใหม่ประมาณ 3,000 ล้านบาท ลูกหนี้ไ้ดชำระเงินตามงวดประมาณ 2,000 ล้านบาท นับว่าสัดส่วนการชำระหนี้ตามงวดเป็นปกติร้อยละ 52 มีบางส่วนขอปรับการชำระตามรายได้ร้อยละ 27 และกว่าร้อยละ 20 เร่ิมมีปัญหาการชำระ และมียอดหนี้เอ็นพีแอลร้อยละ 1-2 ยอมรับว่าระดับหนี้เสียดังกล่าวไม่น่ากังวล เพราะอยู่ในช่วงเศรษฐกิจชะลอ และน่าจะดูแลได้
นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ เครดิตบูโร เปิดเผยว่า ปัจจุบันเครดิตบูโรมีลูกหนี้ในบัญชีดูแล 30 ล้านราย ในส้ินปี 59 คาดว่าจะมีสถาบันการเงินเข้ามาตรวจดูบัญชีลูกหนี้ประมาณ 50 ล้านครั้ง ขณะที่ประชาชนและผู้ประกอบการทั่วไปคาดว่าจะตรวจสอบสถานะบัญชีการเป็นหนี้ประมาณ 7-8 แสนราย จึงแนะนำให้ประชาชน ลูกหนี้ทั่วไปตรวจสอบสถานะการเป็นหนี้ เพื่อตรวจสอบตัวเองก่อนเตรียมการขอกู้ เมื่อรับรู้ฐานะทางการเงินของตนเองเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้กับเจ้าหนี้สถาบันการเงินและทำให้เข้าถึงแหล่งทุนได้ง่ายขึ้น
นอกจากนี้เครดิตบูโร เตรียมเปิดรับสถาบันการเงินขนาดเล็ก เช่น ไมโครไฟแนนซ์ นาโนไฟแนนซ์ พิโคไฟแนนซ์ รวมทั้ง ฟินเทค เข้ามาเป็นสมาชิกของเครดิตบูโร นอกจากธนาคารของรัฐ ธนาคารพาณิชย์ เพื่อจัดเก็บฐานข้อมูลลูกค้า ปัจจุบันนาโนไฟแนนซ์เข้าเป็นสมาชิก 14 แห่ง และเมื่อ ธปท. พิจารณาแนวทางดำเนินธุรกิจทางการเงินของผู้ประกอบการฟินเทค และให้ใบอนุญาติได้แล้ว จะเร่ิมชวนฟินเทคเข้ามาเป็นสมาชิก เนื่องจาก มาเลเซีย สิงคโปร์ ฮ่องกง ได้นำกลุ่มสถาบันการเงินดังกล่าวมาร่วมเป็นสมาชิกด้วย เพื่อเมื่อเจ้าของเงินเร่ิมให้กู้ระหว่างบุคคลต่อบุคคลผ่านระบบฟินเทค ระบบเครดิตบูโรจะเร่ิมมีความสำคัญมากขึ้น รวมทั้งพร้อมเชิญพิโคไฟแนนซ์เข้าเป็นสมาชิกด้วย โดยกำหนดให้มีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท งบการเงินมีมาตรฐาน และมีระบบกำกับดูแลการบริหารงานอย่างมีมาตรฐาน โดยยอมรับว่าสัดส่วนหนี้ NPL ในระบบสถาบันการเงินช่วงไตรมาส 1 ปี 60 น่าจะเป็นเพดานสูงสุดแล้ว และจากบทเรียนในอดีตสถาบันการเงินมีระบบควบคุมดูแลปัญหาหนี้เสียยอย่างใกล้ชิด จึงมองว่าปัญหาหนี้เสียจะบริหารจัดการได้
จึงต้องการให้ทุกฝ่ายร่วมสร้างวินัยทางการเงิน ตลอดจนการรณรงค์สร้างวัฒนธรรม “ออมก่อนกู้ คิดก่อนใช้ มีวินัย เมื่อมีหนี้” เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนมีการวางแผนการเงิน พร้อมมีวินัยในการรักษาเครดิตของตนเอง เป็นการกระตุ้นและส่งเสริมให้ประชาชนทั่วไปได้ตระหนักในเรื่องภาระหนี้ การบริหารจัด การหนี้ การมีวินัย ใช้หนี้ครบ ใช้หนี้ตรงตามเวลา เพราะอยากเห็นคนไทยมีวินัยทางการเงินเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น.-สำนักข่าวไทย