กรุงเทพฯ 28 ก.ย. – นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) เปิดเผยว่า หลังจากตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมาตามแผนฟื้นฟู เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2559 กระทรวงการคลังอนุมัติเพิ่มทุนให้ธนาคารจำนวน 1,000 ล้านบาท ทำให้มีทุนสำรองมั่นคง ผลประกอบการล่าสุดเดือนสิงหาคม 2559 มียอดหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ลดลงเหลือ 19,486 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 21.66 ของยอดสินเชื่อคงค้าง คาดว่ายอดเอ็นพีแอลสิ้นปีนี้จะลดเหลือประมาณ 18,000 ล้านบาท
ส่วนการปล่อยสินเชื่อใหม่สู่ระบบเศรษฐกิจเบิกจ่ายไปแล้ว 21,953 ล้านบาท โดยยังมีผู้ประกอบการยื่นขอสินเชื่อค้างระหว่างพิจารณากว่า 10,000 ล้านบาท จึงได้เน้นดูแลผู้ประกอบการผ่าน 2 โครงการ คือ สินเชื่อเอสเอ็มอีบัญชีเดียว วงเงินรวม 30,000 ล้านบาท และสินเชื่อ Soft Loan 3 เพื่อซื้อเครื่องจักรใหม่ วงเงินรวม 3,000 ล้านบาท ซึ่งเริ่มเดินสายเปิดตัวตั้งแต่เดือนสิงหาคม ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดกว่า 20 แห่ง ได้รับความร่วมมือดีมากจากทั้งหอการค้าจังหวัด สภาอุตสาหกรรมจังหวัด สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย คลังจังหวัด และอุตสาหกรรมจังหวัด จนมีคำขอกู้จากเอสเอ็มอีรายเล็กเข้ามาอย่างล้นหลาม คาดว่าจะสามารถอนุมัติและเบิกจ่ายใกล้เคียงเป้าหมาย 35,000 ล้านบาท
สำหรับไตรมาส 4 เอสเอ็มอีแบงก์พร้อมให้บริการทางการเงิน เพื่อผลักดันการสร้างผู้ประกอบการในกลุ่ม S-Curve ตามนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรม การจูงใจให้ผู้ประกอบการที่เป็นบุคคลธรรมดาจดทะเบียนเปลี่ยนกิจการเป็นนิติบุคคล เพื่อรองรับระบบ E-Payment บัญชีเดียว ตามนโยบายของกระทรวงการคลัง โดยจะมีทั้งการช่วยเหลือสนับสนุนสินเชื่อและร่วมลงทุนหนุนเสริมจัดทำเป็นโปรแกรมพิเศษ ขณะนี้เริ่มเห็นชัดว่าผู้ประกอบการเริ่มปรับเปลี่ยนตัวเอง เปลี่ยนมาเป็นนิติบุคคลยื่นขอสินเชื่อกับ เอสเอ็มอีแบงก์กว่าร้อยละ 80 เป็นนิติบุคคล จากเดิมเป็นบุคคลธรรมดา
นายมงคล กล่าวว่า เอสเอ็มอีแบงก์มีความพร้อมช่วยเหลือตัวเอง โดยไม่ต้องเสนอโครงการขอชดเชยดอกเบี้ยให้เป็นภาระของรัฐบาล จึงได้ออกสินเชื่อเอสเอ็มอีบัญชีเดียว วงเงินรวม 30,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยปีแรกเพียงร้อยละ 5 และโครงการเบิกจ่ายแฟคตอริ่งทั่วไทยวันเดียว วงเงินรวม 4,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยปีแรกเพียงร้อยละ 3.99 ต่ำกว่าอัตรา MLR ที่ร้อยละ 6.875 ส่วนต่างนี้ธนาคารยอมรับภาระดังกล่าวให้ลูกค้า โดยไม่ขอชดเชยจากรัฐเพิ่ม เนื่องจากควบคุมค่าใช้จ่ายในองค์กรได้ต่ำกว่าแผน และยังลดต้นทุนเงินสิ้นปี 2558 ที่ร้อยละ 2.77 คงเหลือในปัจจุบันเพียงร้อยละ 2.10 จึงใช้โมเดล “หย่านมแม่” เพื่อสื่อความหมายธนาคารต้องเติบโตด้วยตัวเอง ผ่านการบริหารความเสี่ยง การกำกับและควบคุมภายใน ปรับกระบวนทัพเพิ่มเน้น 5 ด้าน เสริมแกร่งและมุ่งสู่ธนาคารเพื่อการพัฒนาผู้ประกอบการเต็มรูปแบบ ได้แก่ 1.ด้านพัฒนาระบบการให้บริการ เพื่อการอำนวยสินเชื่อและบริการลูกค้า 2.ด้านพัฒนาบุคลากรให้เป็นนักพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอี 3.ด้านฐานะทางการเงินที่มั่นคงยั่งยืน 4.ด้านพัฒนาผู้ประกอบการและส่งเสริมการตลาดเพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอี และ 5.ด้านพัฒนาองค์กรให้เข้มแข็งด้วยจริยธรรมธรรมาภิบาล ปลูกฝังค่านิยมที่ดี ต้นแบบที่ดี มีความโปร่งใสน่าเชื่อถือ เพื่อรองรับภารกิจที่จะตอบสนองนโยบายของรัฐบาลไปสู่มือผู้ประกอบการอย่างเต็มกำลัง
สำหรับการประชุมร่วมกับนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีเศรษฐกิจ เพื่อต้องการให้สถาบันการเงินของรัฐปฏิรูปการทำงานร่วมกันทั้งธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคาร ออมสิน เอสเอ็มอีแบงก์ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) ดูแลกลุ่มผู้ประกอบการใหม่ Start Up เช่น การพัฒนาของกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ หากพัฒนาไปขอใบรับรองผลิตชิ้นส่วนเครื่องบินจะสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าได้อีกจำนวนมาก เนื่องจากไทยมีศักยภาพในเรื่องชิ้นส่วนอุตสาหกรรม เอสเอ็มอีแบงก์จึงเตรียมออกผลิตภันฑ์สินเชื่อใหม่ปล่อยกู้ให้กับผู้ประกอบการกลุ่มเป้าหมาย S-Curve คาดว่าประกาศอเร็ว ๆ นี้.-สำนักข่าวไทย