กรุงเทพฯ 12 พ.ย. – พาณิชย์จับมือ บสย.เผยเคล็ดลับขอสินเชื่อให้ประสบความสำเร็จ พร้อมแนะเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งทุนง่ายขึ้นด้วยหลักประกันทางธุรกิจ
นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า รัฐบาลมีนโยบายเพิ่มประสิทธิภาพผู้ประกอบการไทยให้มีความเข้มแข็ง โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีมากถึงร้อยละ 97 ของจำนวนผู้ประกอบการทั้งประเทศ โดยกำหนดให้มีการบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชนให้มากที่สุด รวมถึงใช้สาระสำคัญของกฎหมายที่แต่ละหน่วยงานกำกับดูแลอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ส่วนรวม ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกให้ภาคเอกชนสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างคล่องตัวและมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้เกิดการจ้างงาน และเป็นกำลังสำคัญในการผลักดันให้เศรษฐกิจของประเทศเดินไปข้างหน้าด้วยความมั่นคง
“ปัจจัยสำคัญที่ช่วยส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้มีความเข้มแข็ง คือ การเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายและสะดวกมากขึ้น เพราะหมายถึงโอกาสที่จะนำเงินทุนไปต่อยอดธุรกิจให้เติบโต เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ นำไปสู่การกระจายความมั่งคั่งและลดความเหลื่อมล้ำในระบบเศรษฐกิจ ปัจจุบันการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการมีข้อจำกัดหลายประการ โดยเฉพาะการเตรียมความพร้อมทั้งของผู้ประกอบการและกิจการ ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการอนุมัติสินเชื่อจากสถาบันการเงิน” นายวีรศักดิ์ กล่าว
ล่าสุดกรมพัฒนาธุรกิจการค้าร่วมกับบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) จัดสัมมนาให้ความรู้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องทรัพย์สินที่ใช้เป็นหลักประกันในการขอสินเชื่อกับสถาบันการเงิน ได้แก่ กิจการ สิทธิเรียกร้อง สังหาริมทรัพย์ที่ใช้ในการประกอบธุรกิจ อสังหาริมทรัพย์สำหรับธุรกิจที่ประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์โดยตรง ทรัพย์สินทางปัญญา และไม้ยืนต้นที่มีค่า รวมถึงเทคนิคและเคล็ดลับการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินให้ประสบความสำเร็จ เช่น การเตรียมความพร้อมและเตรียมเอกสารอย่างไรในการยื่นขอสินเชื่อ การจัดทำเอกสารประกอบการขอสินเชื่อ ฯลฯ โดยในงานสัมมนาฯ จะมีการทำเวิร์คช็อปเพื่อให้ผู้เข้าสัมมนาได้ทดลองลงมือปฏิบัติจริง ทำให้เกิดความเข้าใจมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ บสย.ยังมีการออกบูธให้คำปรึกษาปัญหาด้านการเงินและการทำธุรกิจแก่ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมสัมมนาฯ โดยเฉพาะอีกด้วย
ทั้งนี้ ข้อมูล ณ วันที่ 9 พฤศจิกายน 2563 พบว่า การจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจ 560,495 คำขอ และมูลค่าทรัพย์สินที่เป็นหลักประกัน 8,768,869 ล้านบาท แบ่งเป็นประเภททรัพย์สิน ตามลำดับ ดังนี้ สิทธิเรียกร้อง เช่น บัญชีเงินฝากธนาคาร สิทธิการเช่า ลูกหนี้การค้า 6,674,994 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 76.12 สังหาริมทรัพย์ที่ใช้ในการประกอบธุรกิจ เช่น สินค้าคงคลัง/วัตถุดิบ เครื่องจักร/เครื่องยนต์ 2,090,617 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 23.84 ทรัพย์สินทางปัญญา เช่น ลิขสิทธิ์ เครื่องหมายการค้า 1,985 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.02 กิจการ 744 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.01 อสังหาริมทรัพย์ที่ใช้ในการประกอบธุรกิจ 397 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.01 และไม้ยืนต้น เช่น ยาง ยางนา สัก ฯลฯ 132 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.002.-สำนักข่าวไทย