กรุงเทพฯ 11 พ.ย. – “สุริยะ” อุ้มผู้ประกอบการสู้วิกฤติโควิด-19 สั่งกรมโรงงานฯ ลุยโครงการปรับเปลี่ยนเครื่องจักร หวังเติมทุนช่วยเอสเอ็มอี พร้อมโชว์ผลงานปี 63 ช่วยผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินในระบบกว่า 80,000 ล้านบาท
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ครม.อนุมติหลักการยกเว้นค่าธรรมเนียมจดทะเบียนเครื่องจักรเป็นระยะเวลา 1 ปี เพื่อบรรเทาผลกระทบของผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยมีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด 15 วันนับแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
สำหรับรายละเอียดประกอบด้วย 3 รายการ คือ 1. ค่าจดทะเบียนกรรมสิทธิ์เครื่องจักร ปกติอัตราจัดเก็บอยู่ที่เครื่องละ 750 บาท แต่ไม่เกิน 12,000 บาท 2. ค่าเครื่องหมายการจดทะเบียน ซึ่งเจ้าพนักงานได้ประทับหรือทำไว้ที่เครื่องจักร อัตราการจัดเก็บค่าธรรมเนียมอยู่ที่เครื่องหมายละ 120 บาท แต่ไม่เกิน 1,200 บาท และ 3. ค่าคัดสำเนาเอกสารพร้อมด้วยคำรับรองว่าถูกต้อง อัตราจัดเก็บอยู่ที่หน้าละ 10 บาท ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมได้ประมาณการการสูญเสียรายได้จากการยกเว้นการจัดเก็บค่าธรรมเนียมครั้งนี้ในรอบ 1 ปี อยู่ที่ประมาณ 2 ล้านบาท
“กระทรวงอุตสาหกรรมตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดจากโควิด-19 ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากต่อผู้ประกอบการ โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอี ดังนั้น เพื่อเป็นการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการให้ยังสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ จึงได้กำชับให้ กรอ.เร่งดำเนินโครงการดังกล่าว เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการให้มีเงินทุนเข้าไปหมุนเวียนในการทำธุรกิจ ซึ่งจะช่วยลดการเลิกจ้างงาน พยุงภาคอุตสาหกรรมให้ยังสามารถทำหน้าที่ในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงยังเป็นการสนับสนุนเศรษฐกิจฐานรากตามนโยบายของรัฐบาลด้วย” นายสุริยะ กล่าว
ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2563 (ต.ค.62-ก.ย.63) พบว่า มีมูลค่าการจดทะเบียนกรรมสิทธิ์เครื่องจักร ประมาณ 100,000 ล้านบาท โดยมีผู้ประกอบการยื่นจดทะเบียนกรรมสิทธิ์เครื่องจักร 1,157 ราย ในจำนวนนี้คิดเป็นเครื่องจักรที่จดทะเบียน 6,036 เครื่อง โดยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสามารถนำเครื่องจักรดังกล่าวมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้กับสถาบันการเงินในระบบ คิดเป็นวงเงินจำนองประมาณ 80,000 ล้านบาท โดยมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าร่วมโครงการกว่า 107 ราย จำนวนเครื่องจักร 2,131 เครื่อง ส่งผลให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมีการลงทุนปรับเปลี่ยนเครื่องจักร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต 600 ล้านบาท โดยมีระยะเวลาคืนทุนประมาณ 3 ปี
สำหรับปีงบประมาณ 2564 (ต.ค.63-ก.ย.64) กรอ.ยังคงเดินหน้าโครงการดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง เบื้องต้นคาดว่าจะมีผู้ประกอบการนำเครื่องจักรเข้ามาจดทะเบียนมากกว่า 1,300 ราย และมีเอสเอ็มอีนำเครื่องจักรเข้าร่วมโครงการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพมากกว่า 2,200 เครื่อง ทำให้ผู้ประกอบการมีเงินลงทุนในการเพิ่มประสิทธิภาพเครื่องจักรมากขึ้น 10-15%.-สำนักข่าวไทย