นครปฐม 7 ก.ค. – เกษตรกรชาวสวนมะพร้าวยืนยันมะพร้าวน้ำหอมไม่ใช้ลิงเก็บ ต้องใช้คนเท่านั้น ด้านนักวิชาการด้านสัตว์ป่าและสิ่งแวดล้อม เผยกระแสข่าว “ลิงเก็บมะพร้าว” ที่ต่างชาตินำเสนอเป็นการมองประเด็นด้านเดียว ไม่เข้าใจความสัมพันธ์ และไม่เข้าใจการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับสัตว์ในบริบทสังคมไทย
วางบันไดพาด เลือกมุมให้เหมาะ ปืนขึ้นไปใช้เชือกมัดทะลายมะพร้าวให้แน่น ใช้มีดฟันแบ มะพร้าวทั้งทะลายที่หลุดออกมาจะค้างอยู่กับรอกเชือกที่พาดกับทางมะพร้าว ค่อยๆ หย่อนลงพื้น นี่เป็นวิธีเก็บมะพร้าวน้ำหอมที่จะเก็บผลผลิตได้เดือนละครั้ง
เกษตรกรสวนมะพร้าวน้ำหอม อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม แหล่งมะพร้าวน้ำหอมชื่อดัง บอกว่าตลอด 50 ปีที่ทำสวนมะพร้าวน้ำหอม ต้องใช้คนเก็บเท่านั้น ได้ทั้งปีนบันได หรือใช้ไม้สอย เพราะต้องใช้ความระมัดระวัง ไม่สามารถใช้ลิงเก็บได้ เนื่องจากลิงจะปีนขึ้นไปแล้วเด็ดทีละลูกโยนลงพื้น อาจทำให้มะพร้าวน้ำหอมแตกเสียหาย ส่วนมะพร้าวที่ใช้ลิงปีนขึ้นไปเก็บคือ มะพร้าวแห้ง หรือมะพร้าวกะทิ
หลังมีกระแสข่าวต่างชาติแบนกะทิของไทย โดยอ้างว่ามีการทรมานลิง ทำให้เริ่มส่งผลถึงการส่งออกมะพร้าวน้ำหอม ซึ่งไทยส่งออกมะพร้าว 2 กลุ่มหลัก คือ กะทิสำหรับทำอาหาร และมะพร้าวน้ำหอมกับผลิตภัณฑ์มะพร้าว แต่ลูกค้าหลักของไทยคือตลาดจีน จึงยังไม่กระทบกับยอดคำสั่งซื้อ
กรรมการสมาคมป้องกันและทารุณกรรมสัตว์แห่งประเทศไทย และเป็นหนึ่งในคณะกรรมาธิการผลักดันกฎหมายทารุณกรรมสัตว์ ซึ่งใช้เวลานับสิบปี มองว่าลิงกับคนไทยมีความลึกในเชิงวัฒนธรรม รู้ว่าลิงป่าไหนฉลาดฝึกได้ มีการเลี้ยงดูเหมือนเป็นสมาชิกในครอบครัว คนไทยมักสื่อสารกับสัตว์ด้วยการพูดคุย ไม่ว่าจะเป็นลิงหรือวัว ควาย กรณีที่มีองค์กรออกมาระบุว่าการใช้ลิงเก็บมะพร้าวเป็นการทารุณกรรมสัตว์ เป็นการนำเสนอข้อมูลด้านเดียวและไม่ลึกซึ้งพอ และไม่เข้าใจการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับสัตว์ในสังคมไทย
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เครือข่ายองค์กรสวัสดิภาพสัตว์ อยู่ระหว่างเสนอรายชื่อสัตว์ป่า 5 ชนิด เพื่อได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557 หนึ่งในนั้นคือ ลิง ด้วยเหตุผลที่ว่าลิงมักถูกนำไปฝึกในสวนสัตว์ และแสดงละครสัตว์ แต่ไม่ใช่เพราะถูกนำไปฝึกเก็บมะพร้าว.-สำนักข่าวไทย