กรุงเทพฯ 20 พ.ค. – เกษตรกรปลูกพืชเศรษฐกิจ 6 ชนิด เตรียมร้องศาลปกครองให้คุ้มครองชั่วคราว ยืดระยะเวลาบังคับการแบนพาราควอตและคลอร์ไพริฟอส ซึ่งจะมีผลบังคับใช้วันที่ 1 มิถุนายน รวมทั้งฟ้องผู้เกี่ยวข้องทุกรายที่ทำให้เกษตรกรต้องขาดสิ่งที่ใช้ในการประกอบอาชีพ ต้องใช้สิ่งทดแทนทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ชี้การพิจารณาแบนไม่อยู่บนพื้นฐานของวิทยาศาสตร์
นายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย กล่าวถึงการแบนพาราควอตและคลอร์ไพรฟอส ว่า ได้รับทราบถึงประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง บัญชีวัตถุอันตราย (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2563 ที่ลงนามโดยนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ประธานคณะกรรมการวัตถุอันตรายแล้ว ขณะนี้ประกาศกระทรวงดังกล่าวประกาศในราชราชกิจจานุเบกษา ระบุถึงการยกระดับสารเคมีทางการเกษตร ได้แก่ พาราควอต พาราควอตไดคลอไรด์ คลอร์ไพริฟอส และคลอร์ไพริฟอส-เมทิล จากวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 เป็นชนิดที่ 4 ซึ่งมีผลให้ห้ามผลิต นำเข้า นำผ่าน ส่งออก และครอบครอง อีกทั้งต้องปฏิบัติตามพนักงานเจ้าหน้าที่ คือ กรมวิชาการเกษตรในระยะเวลาที่กำหนด มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2563
นายสุกรรณ์ กล่าวว่า จะร่วมกับผู้แทนกลุ่มเกษตรกรพืชเศรษฐกิจ 6 ชนิด ได้แก่ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และไม้ผล ร้องต่อศาลปกครองให้คุ้มครองชั่วคราวยืดระยะเวลาการบังคับใช้กฎหมายนี้ไปก่อน เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อเกษตรกร ซึ่งจะขาดสิ่งที่ต้องใช้ในการประกอบอาชีพ อีกทั้งยังไม่มีสารที่มีประสิทธิภาพทัดเทียมมาทดแทน โดยเฉพาะพาราควอตเป็นสารป้องกันกำจัดวัชพืช หากใช้สารเคมีชนิดอื่นจะต้องใช้ปริมาณมาก ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ขณะที่ภาครัฐยังไม่มีมาตรการช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบใด ๆ
จากนั้นจะฟ้องผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด ได้แก่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม คณะกรรมการวัตถุอันตราย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมวิชาการเกษตร รวมถึงเอ็นจีโอ ทำให้เกษตรกรเดือดร้อน ที่สำคัญ คือ การแบนสารเคมีทั้ง 2 ชนิด ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของวิทยาศาสตร์ งานวิจัยที่นำมาพิจารณานั้นยังมีข้อถกเถียงถึงความถูกต้อง อีกทั้งขั้นตอนการพิจารณามีความผิดปกติ คือ ผลการประชุมของคณะกรรมการวัตถุอันตรายแต่ละครั้งออกมาไม่เหมือนกัน เป็นมติที่กลับไปกลับมา ทั้งที่ใช้ข้อมูลชุดเดียวกัน ซึ่งกลุ่มเกษตรกรจะร้องศาลปกครองเร็ว ๆ นี้.-สำนักข่าวไทย