กรมวิชาการเกษตร 22 ก.ค. – เกษตรกรบุกกรมวิชาการเกษตรทบทวนแบนพาราควอต ค้านนำเข้าสินค้าเกษตรที่มีค่าตกค้างจากสารเคมีที่แบน จี้นายกฯ เปลี่ยนรัฐมนตรีเกษตรฯ
นายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย พร้อมด้วยผู้แทนสภาเกษตรกรจังหวัดสุพรรณบุรีและเกษตรกรผู้ปลูกพืชเศรษฐกิจ 6 ชนิด ประมาณ 30 คน รวมตัวที่กรมวิชาการเกษตรเรียกร้องอธิบดีกรมวิชาการเกษตรเสนอคณะกรรมการวัตถุอันตรายทบทวนการแบนพาราควอตสารกำจัดวัชพืช เนื่องจากยังไม่มีสารหรือวิธีการอื่นทดแทน ขณะนี้เกษตรกรผู้เพาะปลูกอ้อย ปาล์มน้ำมัน ยางพารา มันสำปะหลัง ข้าวโพด และไม้ผลเดือดร้อนจากการแบนพาราควอตและคลอร์ไพริฟอส ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน เกษตรกรจะต้องส่งคืนร้านค้าภายในวันที่ 29 สิงหาคมนี้ โดยการไม่มีมาตรการให้ร้านค้าคืนเงินเกษตรกร รวมทั้งหากไม่ส่งคืนจะมีโทษสูง คือ จำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้ ขอให้กรมวิชาการเกษตรศึกษาข้อมูลทางวิชาการใหม่ เนื่องจากเมื่อแบนพาราควอตแล้วเกษตรกรหันไปใช้กลูโฟซิเนต แต่พบว่าราคาแพงและคุณภาพต่ำ จึงต้องใช้ปริมาณมากและดูดซึมสู่พืชประธานทำให้เกิดความเสียหาย ส่วนไกลโฟเซตออกฤทธิ์แบบดูดซึมเช่นกัน เมื่อใช้ในแปลงทำให้พืชประธานส่งผลให้ต้นแคระแกรน และคาดว่าผลผลิตจะลดลงประมาณร้อยละ 30-50
จากนั้นจะเดินทางไปยังพรรคภูมิใจไทย เพื่ออ่านแถลงการณ์แบนพรรคภูมิใจไทยที่รัฐมนตรีของพรรคภูมิใจแบนปัจจัยการผลิตและผิดสัญญาที่ว่าจะดูแลผู้บริโภค ซึ่งเป็นการกล่าวอ้างเนื่องจากยังคงจะให้นำเข้าสินค้าเกษตรที่มีค่าตกค้างของสารเคมี แล้วจะไปที่มูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อให้ดูแลความปลอดภัยของผู้บริโภคทั่วประเทศ โดยเรียกร้องว่าหากรัฐบาลแบนพาราควอตและคลอร์ไพริฟอสต้องไม่อนุญาตให้นำเข้าสินค้าเกษตรจากประเทศที่ใช้สารเคมีดังกล่าว ถ้านำเข้าค่าสารพิษตกค้าง (MRL) ต้องเป็น 0 (Zero tolerance) เพื่อไม่ให้เกิดการปฏิบัติ 2 มาตรฐาน คือ ห้ามเกษตรกรไทยใช้ แต่นำเข้าสินค้าเกษตรที่มีสารพิษตกค้าง ซึ่งไม่เกิดประโยชน์ใด ๆ ต่อผู้บริโภค ส่วนในช่วงบ่ายจะไปทำเนียบรัฐบาล เพื่อเสนอหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีให้เปลี่ยนนางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรจากพรรคภูมิใจไทยออก เนื่องจากเป็นผู้เสนอแบนสารเคมีทำให้เกษตรกรเดือดร้อน โดยขอให้แต่งตั้งรัฐมนตรีจากพรรคพลังประชารัฐมาแทน รวมทั้งขอให้นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบสูงสุดช่วยเหลือด้วย โดยก่อนหน้านี้ระบุว่าได้แต่งตั้งคณะกรรมการหาสารหรือวิธีการทดแทน กำหนดแนวทางแก้ปัญหา และช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ จึงต้องการทราบผลเป็นรูปธรรม
นายสุกรรณ์ กล่าวต่อว่า ข้อมูลของเอ็นจีโอที่ระบุว่าพบค่าตกค้างของพาราควอตในพืชผักที่นำไปสู่การแบนนั้น ไม่เป็นความจริง เกษตรกรรู้วิธีใช้สารกำจัดวัชพืช ไม่นำไปใช้กับพืชประธาน เพราะออกฤทธิ์เผาไหม้ จะทำให้พืชประธานตาย แต่พาราควอตไม่ดูดซึม สำหรับค่าตกค้างที่ตรวจพบมาจากคลอร์ไพริฟอสและสารกำจัดแมลงอื่น ๆ เห็นด้วยว่าสารเคมีทุกชนิดมีอันตราย หากใช้ไม่ถูกสถานที่และไม่ถูกวิธี จึงขอให้รัฐบาลใช้มาตรการจำกัดการใช้ แต่หากยืนยันจะแบนพาราควอต ขอให้แบนไกลโฟเซตและกลูโฟซิเนตด้วย เพื่อที่เกษตรกรจะได้ไม่นำมาใช้ในแปลง เนื่องจากสาร 2 ชนิดออกฤทธิ์แบบดูดซึม จึงมีโอกาสตกค้างในพืช หากนำมาใช้ในแปลงผัก การทบทวนใหม่โดยใช้ข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ แทนการใช้ทิฐิ จะเกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้บริโภค.-สำนักข่าวไทย