ทำเนียบรัฐบาล 12 พ.ค. – สภาพัฒน์ ชี้แจงเงินกู้ 4 แสนล้าน หลัง ครม.พิจารณา กรอบนโยบายฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมให้เข้มแข็งยั่งยืน
นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะคณะกรรมการกลั่นกรองเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี มีการพิจารณากรอบนโยบายฟื้นฟูทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยประเทศไทยต้องหันมาสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจภายในประเทศ จากเดิมที่อาจจะเคยเน้นเรื่องการส่งออก สร้างความเจริญเติบโตให้ประเทศ เรื่องท่องเที่ยวที่เข้ามาจำนวนมากเพื่อสร้างรายได้ให้ประเทศ แต่หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด – 19 แล้ว เราได้มีการถอดบทเรียนดังกล่าว โดย ครม. อนุมัติแนวทางการใช้เงินกู้เพื่อที่จะสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจในประเทศให้มากขึ้น
ขณะที่ วัตถุประสงค์หลักของเงินกู้ 4 แสนล้านบาท คือ พยายามสร้างงาน สร้างรายได้ ให้กับชุมชน เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ส่งผลต่อประชาชน และผู้ประกอบการ ขาดรายได้ที่เคยได้รับตามปกติ ซึ่งเงินกู้นี้จะนำมากระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ เพื่อสร้างความเข้มแข็ง เพื่ออนาคตของประเทศ เนื่องจากประเทศไทยมีความได้เปรียบในเรื่องของเกษตรและอาหาร จึงจะใช้เงินกู้สร้างความเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน เน้นเรื่องเกษตรแปรรูปและอาหาร
ขณะเดียวกันให้ความสำคัญในระดับเศรษฐกิจฐานราก โดยแรงงานส่วนหนึ่งที่ต้องกลับไปยังภูมิลำเนาเดิม จำเป็นต้องมีการสร้างงานรองรับ โดยจะนำเงินกู้นี้มาสร้างเศรษฐกิจระดับชุมชน วิสาหกิจเพื่อชุมชน หรือสหกรณ์ต่างๆ เพื่อสร้างความเข้มแข็งในท้องถิ่นยืนอยู่ได้ต่อไปในอนาคต
นอกจากนี้ หัวใจหลักอีกประการที่สำคัญคือ เน้นความยั่งยืน ไม่เน้นเชิงปริมาณ อาจจะไม่เน้นในเรื่องการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วเหมือนเดิม แต่จะเน้นความมั่นคง ความยั่งยืนของประเทศ เพื่อให้ทุกคนยืนได้ด้วยความมั่นคงต่อไป พร้อมทั้งสอดคล้องกับวิถีชีวิตรูปแบบใหม่ ที่เรียกว่า New Normal มีความเปลี่ยนแปลงค่อนข้างเยอะ เราต้องทำให้เศรษฐกิจและสังคมไทยยืนได้ในอนาคตยืนอยู่ได้ในระบบใหม่ที่จะเกิดขึ้น การใช้เงินกู้นี้น่าจะเป็นหัวเชื้อประการหนึ่งที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของทิศทางในการพัฒนาประเทศต่อไป และหลังจากใช้เงินกู้ เราพยายามที่จะให้มีเงินเข้าสู่งบประมาณเดือนกรกฎาคม หรือไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ หลังจากนั้นจะไปต่อกับงบประมาณปี 2564 – 2565 ทั้งหมดนี้จะเป็นการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน
พร้อมย้ำว่า เงินกู้ยังช่วยรองรับสถานการณ์ภัยแล้งที่จะเกิดขึ้นได้อีกด้วย เพราะจะมีส่วนหนึ่งที่ลงไปในภาคเกษตร ดูแลแหล่งน้ำชุมชนต่างๆ อีกเรื่องอยากเน้น คือ แม้ว่าจะมีวงเงินกู้ 400,000 ล้านบาท แต่ก็ไม่จำเป็นต้องใช้หมด จะเลือกเฉพาะโครงการสำคัญที่จะนำการเปลี่ยนแปลงได้ ที่สำคัญที่สุด การใช้จ่ายจะเป็นไปด้วยความโปร่งใส ตรวจสอบออนไลน์ได้ ข้อมูลต่างๆ จะนำลงเว็บไซต์ โดยมีผู้ตรวจราชการ ประชาชน นิสิตนักศึกษา ร่วมกันลงพื้นที่เป็นหูเป็นตาดูแลความโปร่งใสมากขึ้น มีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมให้ก้าวหน้าอย่างยั่งยืนต่อไป. – สำนักข่าวไทย