สศช.28 พ.ค.-สภาพัฒน์ฯ แถลงรายงานสถานการณ์ผลกระทบโควิด-19 อาจส่งผลให้คนตกงานราว 2 ล้านคนตลอดทั้งปี และเสี่ยงถูกเลิกจ้าง 8.4 ล้านคน เทียบเท่าพิษเศรษฐกิจปี40 คาดเงินกู้ 4 แสนล้าน อาจช่วยสร้างงานกว่า 3 แสนตำแหน่ง คนที่มีทักษะด้านออนไลน์และดิจิทัล จะหางานง่าย
นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แถลงรายงานภาวะสังคมไทย ไตรมาสหนึ่ง ปี 2563 จากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 แบ่งเป็น ผลกระทบต่อการจ้างงาน สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ คาดการณ์ว่าแรงงานมีความเสี่ยงต่อการถูกเลิกจ้าง 8.4 ล้านคน แบ่งเป็นแรงงาน 3 กลุ่ม คือแรงงานในภาคการท่องเที่ยวประมาณ 2.5 ล้านคน ,แรงงานภาคอุตสาหกรรม 1.5ล้านและแรงงานในภาคบริการอื่นๆที่ไม่ใช่ภาคการท่องเที่ยว 4.4 ล้านคน
อย่างไรก็ตามสภาพัฒน์ฯคาดว่าผลกระทบจากโควิดจะชัดเจนมากขึ้นช่วงครึ่งหลังของปี ซึ่งคาดว่ารวมตลอดทั้งปี 63 จะมีผู้ว่างงาน ราว 2 ล้านคน แต่เมื่อสถานการณ์ควบคุมได้เริ่มผ่อนคลายมาตรการทำให้ระบบเศรษฐกิจบางประเภทเปิดดำเนินการได้ และรัฐบาลมีแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ รวมถึง พ.ร.ก.เงินกู้4 แสนล้านบาทถูกนำมาใช้จะช่วยจ้างงานคนกลุ่มนี้ได้มากขึ้น ราว 2-3 แสนตำแหน่ง ซึ่งต้องกลับมาดูตัวเลขในภาพในไตรมาส ต่อไป
ขณะเดียวกันในช่วงเดือนพฤษภาคม-กรกฏาคม คาดว่าจะมีแรงงานจบใหม่เข้าสู่ตลาดแรงงานประมาณ 5.2 แสนคน ซึ่งอาจไม่มีตำแหน่งงานรองรับ จึงจำเป็นต้องมีมาตรการสร้างงานและจ้างงานเพื่อรองรับกลุ่มเสี่ยง แต่เชื่อว่ากลุ่มแรงงานจบใหม่มีทักษะด้านดิจิทัล จะสามารถทำให้หางานไม่ยาก เนื่องจากช่วงโควิด-19 ทำให้มีการปรับเปลี่ยนการทำงานผ่านออนไลน์และดิจิทัลมากขึ้น
ขณะที่พฤติกรรมการใช้จ่ายเงินของครัวเรือนไทย ยังพบครัวเรือนส่วนใหญ่ยังคงซื้อสินค้าที่จำเป็นต่อการอุปโภค-บริโภค แต่เมื่อเทียบกับกลุ่มจบใหม่ และเริ่มทำงาน พบว่า รายได้ไม่เพียงพอรายจ่าย เน้นจ่ายเงิน ไปกับการท่องเที่ยว ดูแลความสวยความงาม ดื่มและมีแนวโน้มคลั่งไคล้การชอปปิ้ง ซึ่งเป็นจุดที่น่าเป็นห่วงเพราะส่วนใหญ่ฟุ่มเฟือย ไม่สนใจการออม พฤติกรรมก่อหนี้ซ้ำนำไปปิดบัญชีอื่น นำเงินกู้ไปใช้จ่ายไม่ตรงวัตถุประสงค์ ควรให้การศึกษาและการบริหารเงินเพิ่มขึ้นกับคนกลุ่มนี้
เลขาธิการฯสภาพัฒน์ กล่าวด้วยว่า การถอดบทเรียนจากวิกฤติโควิด-19 ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจลดลง กระทบต่อการจ้างงาน วิถีชีวิตที่ต้องปรับเปลี่ยน ทุกอย่างเน้นการใช้ออนไลน์มากขึ้น ทั้งการซื้อของ การทำงาน แต่ข้อดีคือการติดต่อที่ไวขึ้น การทำงานไวขึ้น แต่ก็ส่งผลต่อสุขภาพจิต และปัญหาครอบครัว เพราะรายได้ที่ลดลง การกักตัวอยู่บ้าน ส่วนคุณภาพสิ่งแวดล้อม หลายคนอาจจะเห็นสิ่งแวดล้อมถูกฟื้นฟูมากขึ้น แต่ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น คือขยะทางการแพทย์ และขยะพลาสติกจากโฮมเดลิเวอรี่
นอกจากนี้ที่น่าห่วงคือการออกนอกระบบการศึกษา ของกลุ่มเยาวชน 15-24 ปี ไม่ได้เรียนต่อและไม่มีงานทำจะเพิ่มสูงขึ้นถึง1.2 ล้านคน จึงหวังว่าปัญหาเหล่านี้จะถูกแก้ไข และการออก พ.ร.ก.เงินกู้ 1ล้านล้านบาท จะมีช่วยสร้างงานให้คนกลุ่มนี้ด้วย .-สำนักข่าวไทย