ทำเนียบรัฐบาล 30 เม.ย.-ศบค. เผยผู้ป่วยใหม่ 7 ราย ไม่มีเสียชีวิตเพิ่ม ผ่อนปรนให้เปิดตลาด ร้านตัดผม กิจการค้าปลีก-ส่ง กิจกรรมสวนสาธารณะ ประเมินผล 14 วัน ขอทุกคนร่วมมือปรับตัวช่วงหัวเลี้ยงหัวต่อ ถ้าตัวเลขกลับมาเพิ่ม ต้องทบทวนใหม่
นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์โควิด-19 วันนี้(30 เม.ย.) ว่า ไทยมีรายงานผู้ป่วยใหม่ 7 ราย รวมผู้ป่วยสะสมเพิ่มขึ้นเป็น 2,954 ราย รักษาหาย 2,687 ราย รักษาตัวอยู่ 213 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม ทำให้มีผู้เสียชีวิตคงเดิม รวม 54 ราย ทั้งนี้จากจำนวนตัวเลขผู้ป่วยใหม่ 7 ราย พบว่ามาจากการค้นหาโรคในชุมชนที่จังหวัดภูเก็ต 3 ราย กระบี่ 1 ราย รวมเป็น 4 ราย และเป็นผู้ป่วยที่เดินทางมาจากต่างประเทศคือ มาเลเซีย และเข้ากักกันตัวในสถานที่ที่รัฐจัดให้ในกรุงเทพฯ 3 ราย
“ส่วนผู้ป่วยสะสม 2,954 ราย พบใน 5 จังหวัดที่สูงที่สุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร 1,488 รายและมีอยู่ในสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ 12 ราย ภูเก็ต 216 ราย นนทบุรี 157 ราย ยะลา 113 ราย และอยู่ในสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ 8 ราย สมุทรปราการ 113 ราย และเมื่อจำแนกอัตราป่วยต่อประชากรหนึ่งแสนคน โดยไม่รวมผู้ป่วยที่อยู่ในสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ พบว่า จังหวัดภูเก็ต มีผู้ป่วยมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 52.25 กรุงเทพมหานคร ร้อยละ 26.24 ยะลา ร้อยละ 21.15 นนทบุรี ร้อยละ 12.50 ปัตตานี ร้อยละ 10.95” โฆษกศบค. กล่าว
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า จังหวัดกระบี่จะได้เปิดศูนย์ตรวจเชื้อโควิด-19 แห่งแรก โดยจะทราบผลการตรวจภายใน 4 ชั่วโมง โดยเป็นห้องปฏิบัติการอณูชีววิทยาทางการแพทย์ ที่ได้ผ่านการทดสอบความชำนาญมาจากห้องปฏิบัติการด้านการตรวจหาเชื้อโควิด-19 โดยวิธี Real Time RT-PCR สำหรับศูนย์ตรวจเชื้อโควิด-19 ของโรงพยาบาลกระบี่นี้ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่ เป็นเงิน 4,900,000 บาท และ โรงพยาบาลกระบี่สมทบอีก 100,000 บาท โดยสามารถตรวจหาเชื้อโควิด-19 ได้วันละ 120 ตัวอย่าง ซึ่งจะแก้ปัญหาให้จังหวัดกระบี่ที่ไม่มีเครื่องตรวจหาเชื้อเป็นของตัวเอง
โฆษกศบค. กล่าวว่า สถานการณ์โลกพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รวม 3,220,225 ราย เสียชีวิต 228,223 ราย สหรัฐอเมริกาพบติดเชื้อมากที่สุด 1,064,533 ราย เสียชีวิต 61,668 ราย ขณะที่ไทยอยู่ที่อันดับที่ 59 ของโลก ขณะที่ในกลุ่มประเทศอาเซียนและเอเชีย พบว่า อินเดียอยู่ที่ อันดับที่ 16 ของโลก สิงคโปร์ อันดับที่ 25 ของโลก ปากีสถาน อันดับที่ 26 ของโลก ญี่ปุ่นอันดับที่ 29 ของโลก และเกาหลีใต้ อันดับที่ 35 ของโลก
“พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในฐานะ ผอ.ศบค.เน้นย้ำมาตรการผ่อนปรนต่าง ๆ ว่าถือเป็นความรับผิดชอบของคนไทยทั้งประเทศที่ตัดสินใจร่วมมือกันแก้ไขปัญหาสถานการณ์ของไวรัสโควิด-19 ทั้งเรื่องการระบาดและผลกระทบทางเศรษฐกิจ หากสามารถควบคุมสถานการณ์ด้านสาธารณสุขในระยะแรกนี้ได้ จะผ่อนปรนในระยะต่อ ๆไปได้ ขอให้เจ้าหน้าที่ทุกคนร่วมมือกันปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเสียสละ ทำให้ประชาชนปลอดภัย บรรเทาความเดือดร้อน ทั้งค่าครองชีพ ค่าใช้จ่ายวิถีชีวิตของประชาชน และป้องกันการแพร่ระบาดไม่ให้เพิ่มมากขึ้น เพื่อให้ประเทศเดินหน้าได้ หากเราควบคุมได้ไม่ดี ทุกอย่างอาจจะแย่ลง ภารกิจนี้เป็นงานและท้าทาย แต่หากทุกคนโดยเฉพาะผู้ประกอบการ ผู้รับบริการ ผู้บริโภคและประชาชนร่วมมือกัน ด้วยความตั้งใจ มุ่งเน้นเรื่องการป้องกันตนเองและผู้อื่น มีจิตสำนึกรับผิดชอบต่อสังคมจะสำเร็จได้” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว
โฆษกศบค. กล่าวว่า มาตรการที่ยังคงบังคับใช้ คือการประกาศขยาย พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินออกไปจนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม มาตรการเคอร์ฟิวเวลา 22.00 น. ถึง 04.00 น. การเดินทางเข้า-ออกราชอาณาจักรทั้งทางบก ทางน้ำและทางอากาศ ซึ่งที่รัฐจัดสถานที่กักกันให้ มีคนเข้าไปอยู่จำนวนมากและตรวจพบมีผู้ติดเชื้อกว่า 80 คน ซึ่งหากไม่กักกันตัวไว้ และแต่ละคนกระจายไปอยู่ในสังคม จะทำให้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอีกกว่า 10,000 คน การจำกัดการบินเข้า-ออกของสายการบินระหว่างประเทศ ออกไปถึงวันที่ 31 พฤษภาคม โดยอนุญาตให้เฉพาะสายการบินบางประเภทเท่านั้น งดและชะลอการเดินทางข้ามจังหวัด โดยไม่มีเหตุจำเป็น คงการทำงานที่บ้านให้ได้ร้อยละ 50 และห้ามประชาชนเข้าไปหรือใช้สถานที่ที่มีคนจำนวนมาก หรือทำกิจกรรมร่วมกันที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคเป็นการชั่วคราว
“ศบค.มีมาตรการผ่อนปรนของแต่ละกิจการและกิจกรรม โดยการดำเนินงานจะต้องคำนึงถึงปัจจัยด้านสาธารณสุขเป็นหลัก และนำปัจจัยด้านสังคมและด้านเศรษฐกิจมาประกอบการพิจารณา โดยยึดถือข้อกำหนดต่าง ๆ ตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 1 ข้อ 11 เช่น การทำความสะอาดพื้นผิวของสถานที่ที่เกี่ยวข้องทั้งก่อนและหลังการทำกิจกรรม การกำจัดมูลฝอย การใส่หน้ากากอนามัยอยู่เสมอ ทั้งผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการ การล้างมือ การเว้นระยะนั่งและยืน ซึ่งแต่ละกิจการต้องนำไปปรับใช้ สำหรับมาตรการผ่อนปรนประเภทกิจการและกิจกรรม ได้แก่ 1. ตลาด ได้แก่ ตลาดสด ตลาดนัด ตลาดน้ำ ตลาดชุมชน ถนนคนเดิน และแผงลอย 2.ร้านจำหน่ายอาหาร ได้แก่ ร้านอาหารทั่วไป ร้านเครื่องดื่ม ขนมหวาน ไอศครีม(นอกห้าง) ร้านอาหารริมทาง รถเข็นและหาบเร่” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว
โฆษกศบค. กล่าวว่า 3.กิจการค้าปลีก-ส่ง ได้แก่ ซุปเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อบริเวณพื้นที่นั่งและยืนรับประทาน รถเร่หรือรถวิ่งขายสินค้าบริโภค ร้านค้าปลีกขนาดย่อม ค้าปลีกชุมชน และร้านค้าปลีกธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม 4.กีฬาและสันทนาการได้แก่กิจกรรมในสวนสาธารณะ ได้แก่ เต้นรำ ไทเก๊ก สนามกีฬากลางแจ้ง ที่เป็นการออกกำลังกายโดยไม่ได้เล่นเป็นทีมและไม่มีการแข่งขัน ได้แก่ เทนนิส ยิงปืน ยิงธนู จักรยาน กอล์ฟ สนามซ้อม 5. ร้านตัดผม เสริมสวย เฉพาะ ตัด สระไดร์ 6. อื่น ๆ ได้แก่ ร้านตัดขนสัตว์ ร้านรับเลี้ยงรับฝากสัตว์ โดยทั้งหมดให้เริ่มมาตรการได้ในวันที่ 3 พฤษภาคมนี้ ทั้งนี้ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครกำหนดรายละเอียดต่อไป ซึ่งรายละเอียดการปฏิบัติของแต่ละพื้นที่มีความเข้มข้นมากกว่าได้ แต่จะน้อยกว่ามาตรฐานกลางของศบค.ไม่ได้
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า มาตรการต่าง ๆไม่ได้เป็นเพียงการดูแลผู้ประกอบการ แต่มีความสำคัญต่อผู้รับบริการด้วย ซึ่งผู้รับบริการจะต้องไม่ได้รับความเสี่ยงในการเกิดโรคขึ้นมาอีก เพราะฉะนั้นการมีมาตรการออกมาเช่นนี้เพื่อคุ้มครองทั้งสองฝ่าย และถ้าทุกคนเห็นด้วยกับการผ่อนคลาย ฝากให้ทุกคนให้ความร่วมมือและนำมาปรับเพื่อนำไปปฏิบัติต่อไป โดยจะใช้เวลา 14 วันติดตามประเมินผล ถ้ามีตัวเลขการติดเชื้อคงที่ไปเรื่อย ๆ แสดงว่าทุกคนให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี และรู้วิธีการจัดการตัวเอง กิจการและกิจกรรมต่าง ๆได้ดี และจะสามารถเลื่อนระดับการผ่อนคลายในกิจการและกิจกรรมมากขึ้น
“แต่ถ้าใน 14 วัน ตัวเลขการติดเชื้อกลับมาเพิ่มขึ้นเป็นสองหลักสามหลัก จะต้องถอยหลังกลับมา และมาตรการต่าง ๆ ต้องถูกทบทวนใหม่ทั้งหมด ทุกคนมีส่วนร่วมทั้งหมด ตามหลักการคือจะต้องร่วมกันให้ได้มากกว่าร้อยละ 90 จึงจะสามารถควบคุมโรคได้ ช่วงนี้ถือเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของทุกคน และขอให้ประสบความสำเร็จเหมือนที่เคยปฏิบัติกันมาในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมา” โฆษกศบค. กล่าว
ส่วนประชาชนจะกลับมาใช้ชีวิตปกติแบบวิถีใหม่ทั้งหมดได้เมื่อใด นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีในฐานะผอ.ศบค.แบ่งระยะไว้เป็น 25% 50% 75% 100% และให้ช่วงเวลาไว้ 14 วัน ถ้าทุกอย่างผ่านไปอย่างดี จะแบ่งเป็น 4 ช่วงคือนับเป็นเวลาประมาณ 2 เดือน แต่เวลาตรงตามนั้นหรือไม่ และโรคจากหายไปใน 2 เดือนหรือไม่ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับประเทศไทยอย่างเดียว แต่ต้องพิจารณาจากประเทศต่าง ๆโดยรอบด้วย เพราะฉะนั้นสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ คงไม่ได้เป็นคำตอบที่จะบอกชัดเจน
“ได้เห็นการส่งข้อมูลการพยากรณ์โรค โดยการใช้สถิติว่าตัวเชื้อโรคจะหายไปเมื่อใด ซึ่งนักวิชาการของสิงคโปร์เอาสถิติมาร้อยเรียงกันและบอกว่าประเทศไทยจะหมดเชื้อ 100% ในวันที่ 11 มิถุนายน ซึ่งก็เป็นข่าวดี แต่เป็นการใช้ข้อมูลเมื่ออดีตมาธิบายข้างหน้า แต่ถ้าวันนี้เราร่วมมือกันดีกว่านั้น อาจจะเร็วกว่านั้นก็ได้ หรือถ้าวันนี้เราหย่อนกันมาก พรุ่งนี้มีติดเชื้อเพิ่มขึ้นมาสองหลัก สิ่งที่พูดกันวันนี้ แทบจะกลายเป็นศูนย์เลยทันที จึงไม่มีอะไรแน่นอน 100% แต่เราก็อยากจะมีความหวังในเชิงบวก ซึ่งเกิดจากการร่วมมือของประชาชนทุกคน” โฆษกศบค. กล่าว
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ขณะนี้เป็นช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน ตลอดหนึ่งเดือนที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีและจะเข้าสู่ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ และยังต้องการความร่วมมือจากประชาชน 100% หากทุกคนเข้าใจและช่วยกันทำให้เกิดตัวเลขผู้ป่วยเพียงตัวเดียว หากร่วมมือกันต่อไป ยังคงตัวเลขตัวเดียวได้และยังได้อิสระในการจับจ่ายใช้สอยและการประกอบอาชีพเหมือนเดิม ประชาชนทุกคนจะต้องช่วยกันตรวจสอบกิจการนั้น ๆ และ 14 วันจากนี้จะเป็นช่วงของการเปลี่ยนแปลง ปรับตัวและใช้ชีวิตวิถีใหม่ ถ้าช่วยกันได้จะประสบความสำเร็จ ได้เห็นตัวเลขหนึ่งหลักไปอีกสามเดือนข้างหน้า เราจะพ้นภัยกันทั้งประเทศและจะแตกต่างจากที่อื่นทั่วโลก
ผู้สื่อข่าวถามถึงปัญหาการฆ่าตัวตายที่เพิ่มสูงขึ้น ส่วนหนึ่งคล้ายกับว่าเริ่มเป็นพฤติกรรมเลียนแบบของผู้ที่หาทางออกไม่ได้ จะแก้ปัญหานี้อย่างไร โฆษกศบค. กล่าวว่า ข้อมูลต่าง ๆ จากกรมสุขภาพจิตรวบรวมว้ ถือว่าเป็นตัวเลขที่น่าเป็นห่วง ซึ่งสถานการณ์ขณะนี้ถือเป็นวิกฤติของโลก หน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุขจะเข้าไปศึกษาเพื่อหาทางลดจำนวนการสูญเสียจากการฆ่าตัวตาย ซึ่งในหลักการการดูแลปัญหาการฆ่าตัวตายเป็นเรื่องที่ป้องกันได้ โดยการแก้ปัญหาที่ตรงจุด จะช่วยลดการสูญเสียได้
“ถือเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน หากใครที่ได้รับผลกระทบและมีความคิดเรื่องการฆ่าตัวตาย ขอให้ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดให้ความสำคัญและติดต่อมายังกระทรวงสาธารณสุขและสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง อย่างไรก็ตามในช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง ปี 2540 ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 8.3 ต่อแสนประชากร แต่ขณะนี้ตัวเลขยังไม่สูงถึงครั้งนั้น ยังมีมาตรการป้องกันที่ช่วยให้ตัวเลขลดลงได้” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว.-สำนักข่าวไทย