กรุงเทพฯ 17 ก.พ. – รมว.เกษตรฯ ย้ำนายกฯ ห่วงปัญหาภัยแล้ง สั่งกรมฝนหลวงฯ บูรณาการทุกเหล่าทัพเสริมศักยภาพการปฏิบัติการทุกพื้นที่ อธิบดีกรมฝนหลวงฯ ระบุมีรายงานการขาดแคลนน้ำทุกภาค จากปัญหาน้ำต้นทุนน้อย ร่นแผนปฏิบัติการตามแผนประจำปีเร็วขึ้น 1 เดือน หวังบรรเทาความเดือดร้อนประชาชน
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า และ น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ ร่วมเป็นประธานเปิดแผนปฏิบัติการฝนหลวงสู้ภัยแล้งประจำปี 2563 ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคกลาง จังหวัดนครสวรรค์
นายเฉลิมชัย กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้กระทรวงเกษตรฯ บูรณาการกับหน่วยงานต่าง ๆ แก้ปัญหาภัยแล้ง ซึ่งปีนี้มีแนวโน้มรุนแรง เนื่องจากปี 2562 ฝนตกน้อยกว่าค่าเฉลี่ยและเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงยาวนาน ทำให้น้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติและระบบชลประทานมีน้อย กระทรวงเกษตรฯ จึงให้กรมฝนหลวงฯปฏิบัติการอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นฤดูแล้ง 2562/2563 ซึ่งเริ่มเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 โดยมีหน่วยฝนหลวงเคลื่อนที่เร็วประจำอยู่ที่สนามบินนครสวรรค์ หากพบว่าบริเวณใดสภาพอากาศเอื้ออำนวยให้หน่วยฝนหลวงเคลื่อนที่เร็ว 3 ชุดบินขึ้นปฏิบัติการทันที ทั้งนี้ ปกติแผนเปิดหน่วยฝนหลวงประจำปีจะเริ่มวันที่ 1 มีนาคม แต่ปีนี้เลื่อนเร็วขึ้นมาเป็นวันที่ 3 กุมภาพันธ์ โดยเปิดหน่วยปฏิบัติการ 6 หน่วย ได้แก่ จ.พิษณุโลก นครสวรรค์ ขอนแก่น บุรีรัมย์ ระยอง และสุราษฎร์ธานี และวันนี้ (17 ก.พ.) ทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ โดยเปิดหน่วยปฏิบัติการทั้งหมด 11 หน่วย ได้แก่ จ.เ ชียงใหม่ พิษณุโลก นครสวรรค์ กาญจนบุรี ขอนแก่น อุดรธานี บุรีรัมย์ อุบลราชธานี ระยอง ประจวบคีรีขันธ์ (หัวหิน) และสุราษฎร์ธานี ซึ่งได้รับความร่วมมือจากทุกเหล่าทัพและสำนักงานตำรวจแห่งชาติบูรณาการสนับสนุนอากาศยานและกำลังพลในการปฏิบัติงานให้ครอบคลุมทุกพื้นที่
นายเฉลิมชัย กล่าวต่อว่า ได้หารือกับนายกรัฐมนตรีเห็นสมควรที่จะเพิ่มศักยภาพของกรมฝนหลวงฯ ซึ่งมีภารกิจและปริมาณงานมากขึ้นจำเป็นต้องมีอากาศยาน พร้อมเครื่องมือที่ทันสมัย รวมถึงการขยายอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ นอกจากการแก้ภัยแล้งปี 2562 ช่วงที่มีปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 หลายพื้นที่ กรมฝนหลวงฯ ได้ร่วมปฏิบัติการเป็นส่วนหนึ่งทำให้พ้นวิกฤติมาได้ รวมทั้งขอให้กำลังใจแก่เจ้าหน้าที่และอาสาสมัครฝนหลวงทุกคน
นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่า ขณะนี้มีรายงานภัยแล้งทุกภาค ดังนั้น นักวิทยาศาสตร์กรมฝนหลวงฯ จะต้องติดตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิดทุกวัน หากพบที่ใดมีความชื้นสัมพัทธ์และดัชนีการยกตัวของเมฆเหมาะสมจะบินขึ้นทำฝนทันที สำหรับแผนการปฏิบัติการฝนหลวงประจำปี 2563 ประกอบด้วย 4 แผนหลัก คือ แผนการป้องกันและแก้ไขภัยแล้ง (สร้างความชุ่มชิ้นให้กับพื้นที่ป่าไม้และเพิ่มปริมาณน้ำฝนในพื้นที่เกษตรกรรม และแผนการเติมน้ำต้นทุนให้เขื่อนกักเก็บน้ำ (เพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักให้กับเขื่อนต่าง ๆ ทั่วประเทศเพื่อสำรองไว้เป็นน้ำต้นทุนในการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้ง) แผนบรรเทาปัญหาหมอกควันและไฟป่า (ลดความหนาแน่นของหมอกควันและลดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 รวมทั้งการเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับพื้นที่ป่าไม้) และแผนการยับยั้งการเกิดพายุลูกเห็บ (บรรเทาและลดความเสียหายจากการเกิดพายุลูกเห็บในพื้นที่การเกษตร)
นายสุรสีห์ กล่าวต่อว่า ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 เป็นอีกปัญหาสำคัญที่รัฐบาลห่วงใยและมอบหมายให้กรมฝนหลวงฯ ปฏิบัติการเพื่อบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดต่อสุขภาพประชาชน ปีนี้ได้รับอนุญาตให้บินเข้าใกล้ท่าอากาศยานนานาชาติมากขึ้น จากปกติต้องอยู่ห่างไม่น้อยกว่า 60 ไมล์ โดยสามารถอยู่ห่างไม่น้อยกว่า 45 ไมล์ ซึ่งจะสามารถบินปฏิบัติการได้ใกล้พื้นที่เป้าหมายมากขึ้นโดยเฉพาะกรุงเทพมหานครและ 9 จังหวัดภาคเหนือ สำหรับการขออัตรากำลังเพิ่มนั้น คณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) กำลังพิจารณา โดยเสนอขอรับข้าราชการเพิ่มประมาณ 300 คน ส่วนพนักงานราชการและลูกจ้าง 400 คนนั้น โดยคาดหวังว่า จะได้รับการพิจารณาตามความเหมาะสมของภารกิจและปริมาณงานที่เพิ่มขึ้น.-สำนักข่าวไทย