กรุงเทพฯ 25
ก.ค.-“เฉลิมชัย” ร่วมงานประชุมใหญ่สามัญ ประจำปี 2563
ชุมนุมสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนแห่งประเทศไทย ย้ำให้ผู้บริหารสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนเรียกศรัทธาของคนทั้งประเทศที่สูญเสียไปจากปัญหาโกงเงินในบางสหกรณ์
นายเฉลิมชัย
ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมงานประชุมใหญ่สามัญ ประจำปี 2563
ชุมนุมสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนแห่งประเทศไทย จำกัด ในวันนี้ (25 ก.ค.) โดยกล่าวว่า
สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนเป็นสถาบันการเงินที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศไทย
รูปแบบสหกรณ์สอดคล้องกับนิสัยและวิถีชีวิตของคนไทยที่เอื้อเฝื้อเผื่อแผ่กัน ก่อตั้งขึ้นใน
พ.ศ. 2508 โดยปัจจุบันมีสหกรณ์/กลุ่มเครดิตยูเนี่ยน จำนวน 1,181 แห่ง แยกเป็นสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน จำนวน 589 สหกรณ์ และกลุ่มเครดิตยูเนี่ยนเตรียมจัดตั้งสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน จำนวน 592 แห่ง และมีสมาชิกรายบุคคล จำนวน 1,205,660 คน กระจายอยู่ในพื้นที่ 75 จังหวัดของประเทศไทย มีพันธกิจชัดเจน
ถ้าสามารถดำเนินการตามพันธกิจได้ควบคู่กับการสร้างธรรมาภิบาลในการดำเนินงานจะเกิดผลดีต่อทั้งเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
สหกรณ์มีข้อได้เปรียบหลายหน่วยงานตรงที่สามารถเลือกตั้งผู้บริหารได้ในรูปแบบคณะกรรมการ
มีหลายสหกรณ์ที่ดำเนินงานตามพันธกิจสำเร็จซึ่งเป็นการดูแลสมาชิกได้เป็นอย่างดี
สมาชิกของสหกรณ์มีความหลากหลายด้านอาชีพ โดยส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร
ขณะเดียวกันบางสหกรณ์ยังมีปัญหาอยู่
แต่ไม่ต้องการให้ปัญหาการบริหารงานด้านการเงินที่เป็นสัดส่วนเล็กน้อยของชุมนุมสหกรณ์
มาทำลายภาพลักษณ์ของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนทั้งหมด จึงขอให้ผู้บริหารสหกรณ์เร่งสร้างศรัทธาจากประชาชนทั้งประเทศด้วยการบริหารงานโดยใช้ความรู้ความสามารถอย่างเต็มที่
สุจริต และโปร่งใส
นายเฉลิมชัยกล่าวต่อว่า
หน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่กำกับดูแลสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนตามกฎหมายคือ
กรมส่งเสริมสหกรณ์และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ซึ่งต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายซ้ำ
ดังที่เคยเกิดขึ้นในสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนบางแห่งมาก่อนหน้านี้
จนทำให้สมาชิกที่ทำงานสะสมเงินมาทั้งชีวิต แล้วนำมาออมกับสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน
ต้องหมดไปเพราะความผิดพลาด ตลอดจนไม่ซื่อสัตย์ในการบริหารงานของคณะกรรมการบางชุด
โดยไม่ทราบว่า จะมีโอกาสได้คืนหรือไม่ เป็นปัญหาที่ทั้งชุมนุมสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน
ตลอดจนทั้ง 2 กรมของกระทรวงเกษตรฯ ที่รับผิดชอบให้เข้มงวด
ไม่ให้สมาชิกสหกรณ์ต้องได้รับผลกระทบอีก
“ทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเงิน
อันตรายทั้งสิ้น แม้เจตนารมณ์ของการสหกรณ์คือ การเอื้อเฟื้อ เจือจาน ดังนั้น ในการคัดเลือกผู้บริหารต้องป้องกันไม่ให้คนที่หวังแสวงหาประโยชน์เข้ามา
ความผิดพลาดของบางสหกรณ์ที่เกิดขึ้นเป็นบทเรียนให้คณะกรรมการได้เรียนรู้และป้องกันการเกิดซ้ำ
เพื่อให้การสหกรณ์สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมได้ตามเจตนารมณ์ของการก่อตั้งขึ้น” นายเฉลิมชัยกล่าว–สำนักข่าวไทย