กรุงเทพฯ 21 ม.ค. – รมว.เกษตรฯ สั่งพัฒนาพันธุ์มะพร้าวทับสะแก หลังขึ้นทะเบียน GI ระบุผลผลิตยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ พร้อมส่งเสริมการแปรรูปและการส่งออกเพิ่มมูลค่า ย้ำเร่งกำจัดหนอนหัวดำและแมลงดำหนามศัตรูพืชสำคัญ
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า เป็นที่น่าภูมิใจของชาวประจวบคีรีขันธ์ที่มะพร้าวทับสะแกได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ได้แก่ ลูกใหญ่ เนื้อหนา แต่เปลือกและกะลาบางและผลดก ที่สำคัญที่สุด คือ มีผลการวิจัยว่ามีค่าความมันของกะทิสูงมาก ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของมะพร้าวแกง อีกทั้งในความมันจะมีความหวานติดอยู่ที่ปลายลิ้นสามารถทำอาหารได้หลายอย่างทั้งคาวและหวาน
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) รายงานว่าไทยผลิตได้กว่า 800,000 ตันต่อปี ความต้องการบริโภคปีละ 1.1 ล้านตัน จึงต้องนำเข้าสำหรับใช้ทำอาหารและส่งเข้าโรงงานแปรรูปส่งออก ขณะนี้คณะอนุกรรมการบริหารจัดการการนำเข้ามะพร้าว ซึ่งมีปลัดกระทรวงเกษตรฯ เป็นประธานกำลังเร่งศึกษาความต้องการใช้ภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อจะนำมาส่งเสริมการปลูกในประเทศ จากนั้นจะลดการนำเข้า เพื่อให้เกษตรกรขายมะพร้าวได้ในราคาสูงขึ้น
นายเฉลิมชัย กล่าวต่อว่า กลุ่มเครือข่ายมะพร้าวทับสะแกมีแผนยุทธศาสตร์การผลิตเมื่อเป็นพืช GI แล้วโดยการใช้ภูมิปัญญาคัดเลือกผลมะพร้าวใหญ่มาเพาะเป็นต้นพันธุ์ เพื่อควบคุมคุณภาพ เกษตรกรจะคัดเลือกผลที่ใหญ่สุดจากต้นดีที่สุดปลูกไว้ จากนี้ไปจะให้กรมวิชาการเกษตรวิจัยการคัดเลือกพันธุ์จะส่งเสริมการปลูกมะพร้าวให้เป็นการปลูกแบบอินทรีย์ (Organic) เพื่อเพิ่มมูลค่า อีกทั้งนำผลมะพร้าวมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น ผงชงพร้อมดื่มมีเกลือแร่ต่าง ๆ ในปริมาณสูง โดยเฉพาะโพแทสเซียม ซึ่งเหมาะกับผู้ที่เสียเหงื่อและนักกีฬา พร้อมทั้งพัฒนากระบวนการผลิตให้ได้มาตรฐาน GMP และ HALAL สร้างช่องทางการตลาดเพื่อการส่งออกต่อไป นอกจากนี้ ยังจะส่งเสริมการปลูกพืชแซมในสวนมะพร้าว ซึ่งสามารถทำได้ เนื่องจากระยะระหว่างต้นและระหว่างแถวห่าง ประกอบกับทรงต้นมะพร้าวสูง สามารถปลูกสับปะรดแซมได้ มะพร้าวทับสะแกเริ่มเก็บผลได้ตั้งแต่ 7 ปีหลังปลูก ต้นที่โตเต็มที่จะให้ผลดก ปีหนึ่งได้ประมาณ 100 ผลต่อต้น เก็บผลได้เดือนละครั้ง ต้นอยู่ได้นานประมาณ 150 ปี
นายเฉลิมชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า มอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรและกรมส่งเสริมการเกษตรเร่งแก้ปัญหาศัตรูมะพร้าว ได้แก่ หนอนหัวดำและแมลงดำหนาม โดยทางชีวภาพสามารถใช้แตนเบียนกำจัด แต่ต้องได้รับความร่วมมือจากชาวสวนดำเนินการพร้อมกัน จึงจะหยุดยั้งการระบาดได้ ถ้าทำเป็นบางสวน หนอนหัวดำและแมลงดำหนามจะอพยพไปสวนที่ไม่ได้ป้องกันและกำจัด จากนั้นจะกลับมาอีก ด้านการตลาดนั้น กระทรวงเกษตรฯ ประสานกับกระทรวงพาณิชย์ขายผลและการแปรรูปส่งออกเป็นการเพิ่มมูลค่า ยกระดับราคามะพร้าวให้สูงขึ้น.-สำนักข่าวไทย