กรุงเทพฯ 10 ม.ค. – รมว.เกษตรฯ สั่งสกัดการลุกลามของโรคใบร่วงยางพารา หลังพบระบาดถึงสุราษฎ์ธานีแล้ว ย้ำเร่งหาแนวทางควบคุมก่อนแพร่ไปทั่วประเทศ สัปดาห์หน้าประชุมนานาชาติหามาตรการแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพสูงสุด
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า สั่งการด่วนให้การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ศึกษาและวิจัยทั้งในห้องปฏิบัติการ ตลอดจนพื้นที่ที่พบการระบาดของโรคใบร่วงยางพารา ซึ่งเป็นโรคอุบัติใหม่เพื่อยับยั้งการระบาด ล่าสุดได้รับรายงานว่า มีพื้นที่เสียหาย 9 จังหวัด รวม 762,939.34 ไร่ ได้แก่ นราธิวาส 732,193 ไร่ ยะลา 4,612 ไร่ ปัตตานี 3,060 ไร่ สงขลา 827 ไร่สตูล 221.20 ไร่ ตรัง 1,412.14 ไร่ กระบี่ 516 ไร่ พังงา 18,598 ไร่ และสุราษฎร์ธานี 1,500 ไร่ เกษตรกรชาวสวนยางได้รับผลกระทบ 81,542 ราย ขณะนี้โรคลุกลามถึงภาคใต้ตอนบน จึงให้ กยท.กำจัดวงไม่ให้แพร่ไปยังภาคอื่น
ทั้งนี้ กยท.อนุมัติเงินกองทุนพัฒนายางสนับสนุนเครื่องมือ ประกอบด้วย อากาศยานไร้คนขับ (Drone) เครื่องฉีดพ่นแรงดันสูง และสารป้องกันกำจัดเชื้อราแก่เกษตรกร แต่เป็นโรคที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ซึ่งในอินโดนีเซียพบโรคเป็นที่แรกมีพื้นที่เสียหายกว่า 3 ล้านไร่ยังไม่สามารถกำจัดได้ จึงพร้อมเสนอ ครม.อนุมัติงบกลาง เพื่อศึกษาวิจัยและระงับการระบาดของโรคให้ได้ จากการฉีดพ่นสารฆ่าเชื้อราในแปลงเกิดโรคพบว่าต้นยางแตกใบใหม่ จึงมอบนโยบายให้ฉีดพ่นสารป้องกันไม่ให้เกิดโรคซ้ำ คาดว่าต้นยางจะฟื้นตัวใน 6-8 เดือน
นายกฤษดา สังข์สิงห์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยยางพารา กล่าวว่า จากการเก็บตัวอย่างใบยางพาราที่ปรากฏอาการโรคมาตรวจสอบ พบเชื้อรา Pestalotiopsis sp. และ Colletotrichum sp. ซึ่งสัปดาห์หน้าจะทราบผลว่าเป็นสปีชีส์ใหม่หรือไม่ รวมทั้งจะประชุมเชิงปฏิบัติการกับนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญโรคพืชจากในประเทศและต่างประเทศของสมาคมประเทศผู้ผลิตยางธรรมชาติ ระหว่างวันที่ 13-15 มกราคม จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อร่วมกันหามาตรการป้องกันและควบคุมโรคที่ได้ผลสูงสุด จากนั้นจะเสนอผู้บริหาร กยท. เพื่อเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกระทรวงเกษตรสั่งการต่อไป.-สำนักข่าวไทย