กรุงเทพฯ 2 ม.ค. – กรมป่าไม้เร่งประสานกรมโยธาฯ ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงบ้านพักและลานกางเต็นท์ริมผาม่อนแจ่ม เกรงไม่ปลอดภัยต่อนักท่องเที่ยว สั่งรื้อลานกลางเต็นท์ 8 แห่ง เข้าข่ายจัดทำสิ่งปลูกสร้างในพื้นที่ป่า
นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า คณะเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้และหน่วยงานต่าง ๆ อยู่ระหว่างประสานผู้ประกอบการบ้านพัก รีสอร์ต และลานกลางเต็นท์แต่ละรายมาทำความตกลง ว่า ไม่ให้ก่อสร้างเพิ่มเติม สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่1 (เชียงใหม่) สำรวจพบว่า มีรีสอร์ตและบ้านพักตากอากาศที่ม่อนแจ่ม 53 แห่ง โดยเป็นของราษฎรรายเดิมที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ 38 ราย แต่ทำรีสอร์ตหรือบ้านพักตากอากาศเกินออกไปจากที่ดินตนเอง 12 ราย ปัจจุบันประกาศให้รื้อถอนส่วนเกินออกไปภายใน 30 วัน หากไม่ดำเนินการจะถูกดำเนินคดี ส่วนอีก 3 แห่งเป็นของราษฏรนอกพื้นที่ซึ่งดำเนินคดีแล้ว
ล่าสุดตรวจพบลานกางเต็นท์อีก 8 แห่ง จึงสั่งการให้ประสานกรมโยธาธิการ กระทรวงมหาดไทย ตรวจสอบว่า เป็นสิ่งปลูกสร้างที่มั่นคงแข็งแรงหรือไม่ โดยมีข้อห่วงใย 2 ประการ คือ หลายแห่งทำลานกางเต็นท์บริเวณริมผาและที่ลาดเอียง เกรงไม่ปลอดภัยต่อนักท่องเที่ยวที่เข้าพัก ขณะเดียวกันหลายแห่งแก้ปัญหาด้วยการเทปูนและทำโครงสร้างเหล็ก ซึ่งเข้าข่ายการบุกรุก แผ้วถาง ยึดถือครอบครองพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติและพื้นที่ป่าไม้ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการระบุว่า เป็นลานกางเต็นท์เพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมาย เกรงว่าหากสร้างเป็นรีสอร์ตหรือบ้านพักตากอากาศจะถูกรื้อถอน แต่ลานกางเต็นท์มีการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างถาวร หลายแห่งสร้างห้องน้ำติดกับที่กางเต็นท์ทุกหลัง ซึ่งไม่ใช่ลักษณะการไปกางเต็นท์ค้างแรมในป่าหรืออุทยานแห่งชาติ
นายอรรถพล กล่าวต่อว่า กำลังสืบสวนทางลับว่า ผู้ประกอบการทั้ง 50 ราย แม้จะเป็นราษฎรรายเดิม แต่มีการร่วมทุนกับบุคคลนอกพื้นที่หรือไม่ หากพบว่าเป็นลักษณะนอมินีจะดำเนินคดีทุกราย นอกจากนี้ ยังเชิญทุกหน่วยงานเข้าร่วมจัดระเบียบพื้นที่ โดยเฉพาะการจัดการขยะช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวมาพักค้างแรมมาก จึงมีขยะปริมาณมาก บ่อขยะเดิมอยู่ในพื้นที่ต้นน้ำชั้น 1 A จึงต้องหาพื้นที่ที่เหมาะสมและให้ชุมชนขออนุญาตใช้จากกรมป่าไม้
นายอรรถพล กล่าวเพิ่มเติมว่า นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กำชับให้ดำเนินการจัดระเบียบม่อนแจ่ม โดยใช้หลักนิติศาสตร์ควบคู่กับรัฐศาสตร์ โดยการปราบปรามการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติและพื้นที่ป่าไม้นั้น จะต้องทำอย่างจริงจังและเฝ้าระวังต่อเนื่อง ไม่เช่นนั้นจะมีการบุกรุกซ้ำและขยายพื้นที่เพิ่ม นอกจากนี้ ยังต้องขอความร่วมมือจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) โดยเฉพาะการอนุญาตก่อสร้างอาคารสถานที่ในที่ดินรัฐ การออกเลขที่บ้าน การต่อน้ำประปาและไฟฟ้า หาก อปท.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการให้เท่ากับส่งเสริมให้มีการบุกรุกพื้นที่ป่า นอกจากนี้ เมื่อตรวจสอบและจัดระเบียบที่ม่อนแจ่มแล้ว จะขยายการตรวจสอบอำเภอแม่ริม.-สำนักข่าวไทย