ทำเนียบฯ 24 พ.ย.-นายกรัฐมนตรีเดินทางร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน-เกาหลี สมัยพิเศษ และผู้นำกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-สาธารณรัฐเกาหลี 24-27 พ.ย. ชูบทบาทไทยในฐานะประธานอาเซียนนำแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนในทุกมิติมาใช้ สานต่อความร่วมมือในโอกาสครบรอบ 30 ปีความสัมพันธ์อาเซียน- เกาหลี
นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงภารกิจพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่เดินทางเข้าร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี สมัยพิเศษ ครั้งที่ 3 (2019 ASEAN-ROK Commemorative Summit) และการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-สาธารณรัฐเกาหลี ครั้งที่ 1 (1st Mekong-ROK Summit) ระหว่างวันที่ 24 – 27 พฤศจิกายน 2562 ณ นครปูซาน สาธารณรัฐเกาหลี ว่า การประชุมสุดยอดอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี สมัยพิเศษ ครั้งที่ 3 เป็นการประชุมระดับผู้นำ ระหว่างผู้นำอาเซียนกับประธานาธิบดีสาธารณรัฐเกาหลี ในโอกาสการครบรอบ 30 ปีของความสัมพันธ์อาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีในฐานะประธานอาเซียน และประธานาธิบดีสาธารณรัฐเกาหลี จะเป็นประธานร่วมของการประชุมสุดยอดฯ ในหัวข้อ ASEAN-ROK 30&30 ซึ่งจะทบทวนความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างอาเซียน กับสาธารณรัฐเกาหลีในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา และกำหนดทิศทางในอีก 30 ปีข้างหน้า รวมทั้งจะแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น ในประเด็นความเชื่อมโยงเพื่อส่งเสริมความเจริญรุ่งเรือง ความมั่งคั่งและความยั่งยืน ภายใต้นโยบายมุ่งใต้ใหม่ โดยจะดูว่า เกาหลี ใต้จะสามารถเชื่อมโยงกับอาเซียนในจุดใดได้บ้าง ในแผนว่าด้วยการเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน
นางนฤมล กล่าวว่า การประชุมสุดยอดอาเซียน-เกาหลีอย่างไม่เป็นทางการ จะแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นของภูมิภาค และประเด็นที่อยู่ในความสนใจ และมีความกังวลร่วมกันเช่น คาบสมุทรเกาหลี เป้าหมายต่าง ๆ ของโลกจนถึงปี 2030 ผลักดันความเชื่อมโยงและเสริมสร้างยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ภายใต้แนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน
“หลัก ๆ ในเวทีนี้ราจะผลักดันความเชื่อมโยงและยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง ที่จะนำไปสู่ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม โดยที่เราต้องการ บทบาทนำในอาเซียนของไทย ในการที่จะนำแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ในทุกมิติมาใช้ในภูมิภาคอาเซียน และให้เกาหลีสนับสนุนบทบาทนี้ของไทย และเราอยากผลักดันให้เกาหลีสนับสนุนมุมมองของอาเซียน ต่อ อินโด แปซิฟิก โดยริเริ่มโครงการที่เป็นรูปธรรมกับเกาหลี ให้อาเซียนเป็นแกนกลางของความร่วมมือต่าง ๆ เหล่านี้ ควบคู่กับการที่เราจะใช้ประโยชน์ของกลไกจากอาเซียน เป็นแกนนำในการป้องกันและแก้ไขปัญหาในภูมิภาค และสุดท้ายเป็นเรื่องของการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี การปฏิบัติที่เป็นเลิศ ที่ทางเกาหลีมี ในสาขาที่เป็นประโยชน์กับไทยเช่นนวัตกรรม เมืองอัจฉริยะ และความร่วมมือในการพัฒนาทุนมนุษย์ และพัฒนาแรงงานไทย เพื่อรองรับการปฏิวัติอุตสาหกรรม” นางนฤมล กล่าว
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในโอกาสนี้นายกรัฐมนตรีมีกำหนดหารือทวิภาคีกับนายมุน แจอิน ประธานาธิบดีสาธารณรัฐเกาหลี โดยจะหยิบยก เรื่องการเชิญชวนนักลงทุน จากสาธารณรัฐเกาหลี มาลงทุนในไทย โดยเฉพาะในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี และจะหารือกันถึงเทคโนโลยีในการบริหารจัดการน้ำเนื่องจากสาธารณรัฐเกาหลีมีความเชี่ยวชาญ ไทยจึงอยากมีความร่วมมือในส่วนนี้ และยังมีความร่วมมือในเรื่อง Start Up และ วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือ sme ซึ่งทางเกาหลีใต้ก็มีนโยบายที่จะสนับสนุนในเรื่องนี้ รวมถึงประเด็นการแก้ไขปัญหาแรงงานไทยในเกาหลีใต้ร่วมกัน
นางนฤมล กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีจะเป็นสักขีพยานการลงนามบันทึกความเข้าใจ หรือ MOU ร่วมกัน 3 ฉบับ คือ บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการส่งเสริม การค้าและการลงทุน ในพื้นที่ อีอีซี ระหว่าง สกพอ.กับ Kotra และ บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือแลกเปลี่ยนข้อมูล เพื่อแก้ไขปัญหาแรงงานไทยผิดกฎหมายในเกาหลีใต้
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-สาธารณรัฐเกาหลี ครั้งที่ 1 (1st Mekong-ROK Summit) เป็นความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับสาธารณรัฐเกาหลี (Mekong-ROK) โดยเป็นข้อริเริ่มของสาธารณรัฐเกาหลี ประกอบด้วยสมาชิก 6 ประเทศ คือ กัมพูชา สปป. ลาว เมียนมา เวียดนาม ไทย และสาธารณรัฐเกาหลี เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม โดยให้ความสำคัญกับความร่วมมือเพื่อพัฒนากลุ่มลุ่มน้ำโขงอย่างยั่งยืน และผลักดันให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาคเอกชน ระหว่างกันด้วย .-สำนักข่าวไทย