ก.พลังงาน 24 ต.ค. – รัฐมนตรีพลังงานเร่งสร้างผลงานหลังทำงานครบ 3 เดือน ขีดกรอบทุกหน่วยงานคิดนอกกรอบ ลงสู่เศรษฐกิจฐานราก ด้าน กฟผ.เล็งตั้งบริษัทเทรดดิ้งไฟฟ้าเพื่อนบ้านและพลังงานทดแทน พร้อมปรับแผนโรงไฟฟ้าก๊าซฯ สุราษฎร์ธานีให้เสร็จเร็วกกว่าแผน 2 ปี
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวภายหลังการประชุมทุกหน่วยงานในสังกัดในวาระครบรอบทำงานกว่า 3 เดือน มอบหมายให้เร่งทำยุทธศาสตร์ เพื่อใช้พลังงานกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ทำทั้งแผนระยะ สั้น 3 เดือน และระยะกลาง ระยาว สอดคล้องกับการจัดทำงบประมาณรายจ่ายปี 2564 ที่ทางรัฐบาลให้เสนอภายในวันที่ 24 มกราคม 2563 ซึ่งให้คิดนอกกรอบ เพื่อให้เกิดการใช้งบฯ เพื่อประสิทธิภาพดีที่สุด โดยแผนงานที่เร่งด่วน เช่น โรงไฟฟ้าชุมชน การพัฒนาน้ำมันจากพืชพลังงาน โดยใช้ อี 20 และไบโอดีเซลบี 10 เป็นน้ำมันพื้นฐาน รวมทั้งแผนการลดมลพิษ PM2.5 การเป็นศูนย์กลางทั้งด้านการค้าขายไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ในภูมิภาคนี้ การปรับปรุงแผนพัฒนากำลังไฟฟ้าระยะยาว (พีดีพี 2018 ) ที่จะมีการปรับในส่วนแผนย่อยที่สอดคล้องทั้งแผนก๊าซธรรมชาติ, น้ำมัน, พลังงานทดแทน และแผนอนุรักษ์งาน เป็นต้น
“มอบหมายทุกหน่วยงานไปจัดทำขั้นตอนการดำเนินงาน เพื่อบรรลุเป้าหมาย (Milestone) ที่ชัดเจนแล้วเสนอมาภายในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2562 ส่วนเรื่องบี 10 ก็จะมีการประชาสัมพันธ์ต่อเนื่อง โดยวันจันทร์นี้ก็จะมีการแถลงข่าวติดสติกเกอร์บี 10 เรื่องนี้เป็นตัวอย่างที่จะช่วยเหลือชาวสวนปาล์มที่ชัดเจน” นายสนธิรัตน์ กล่าว
นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน และประธานคณะกรรมการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า ตามแผนการส่งเสริมให้ไทยเป็นตลาดซื้อขายไฟฟ้าในภูมิภาคนี้และการซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ดังนั้น กฟผ.กำลังศึกษาเรื่องจัดตั้งตลาดซื้อขายไฟฟ้ารองรับ (Trading ) โดยในการประชุมคณะกรรมการ กฟผ.วันที่ 28 ตุลาคมนี้ จะพิจารณาเรื่องนี้ ให้ กฟผ.จัดตั้งบริษัทขึ้นมาดำเนินการ แต่จะทำอย่างไรให้การดำเนินการของบริษัทใหม่นี้มีความคล่องตัว ไม่เกิดปัญหาเรื่องขั้นตอนปฏิบัติ เหมือนกับ บริษัท กฟผ.อินเตอร์เนชั่นแนล
นอกจากนี้ รมว.พลังงาน ได้เร่งรัดให้ กฟผ.ปรับแผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี จำนวน 2 โรง รวมกำลังผลิต 1,400 เมกะวัตต์ สร้างให้เร็วขึ้น 2-3 ปี จากเดิมสร้างเสร็จปี 2570 และ 2571 ก็ให้ปรับให้สร้างเสร็จปี 2568 และ 2569 คาดเงินลงทุนประมาณ 70,000 ล้านบาท โดยการเร่งรัดเนื่องจากคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงานได้เสนอให้เร่งก่อสร้าง หลังจากโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินภาคใต้ถูกชะลอไปโดยไม่มีกำหนด ขณะที่กำลังผลิตไฟฟ้าภาคใต้ไม่พอเพียง แม้จะมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าในภาคตะวันตก เพิ่มเติม แล้วส่งไฟฟ้าไปภาคใต้แล้วก็ตาม โดย กฟผ.ก็ต้องมาเร่งปรับแผน ซึ่งจะต้องดูถึงว่า จะใช้ก๊าซฯจากทีใด จะนำเข้าแอลเอ็นจี มารองรับความต้องการใช้อย่างไร รวมทั้งการก่อสร้างท่อก๊าซฯ ที่ไปส่งยังโรงไฟฟ้าจะเร่งดำเนินการอย่างไร.-สำนักข่าวไทย