เชียงใหม่ 23 ต.ค. – “สนธิรัตน์” ลงพื้นที่ อ.แม่แจ่ม ฟังความเห็นชาวบ้านส่งเสริมโรงไฟฟ้าชุมชน สั่ง กฟผ.ร่วมทุนเอกชน-ชุมชน ไอเดียใหม่ให้เอกชนออกเงินลงทุนก่อน สำหรับสัดส่วนชุมชุมร้อยละ 10-30 ในทุกพื้นที่
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ลงพื้นที่ อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อรับฟังความคิดเห็นชุมชนถึงโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มาศึกษาพบว่าสามารถสร้างได้ 2 แห่ง กำลังผลิตแห่งละ 1 เมกะวัตต์ บนพื้นที่โรงเรียนบ้านบนนา ตำบลช่างเคิ่ง และบ้านแม่นาจร ตำบลแม่นาจร เป็นรูปแบบโรงไฟฟ้าชีวมวลไร้ควัน โดยใช้วัสดุเหลือใช้ในพื้นที่ คือ ซังข้าวโพดเป็นวัตถุดิบหลัก ชาวบ้านส่วนใหญ่เห็นด้วย เพราะจะช่วยสร้างรายได้แก้ปัญหามลพิษจากการเผาไหม้ซังและต้นข้าวโพด รวมทั้งแก้ไขปัญหาไฟฟ้าที่ยังขาดแคลน 42 หมู่บ้าน แต่ชาวบ้านบางส่วนยังกังวลว่าโรงไฟฟ้าจะสร้างมลพิษ ซึ่งได้รับคำชี้แจงว่าเทคโนโลยี Biomass Gasification เป็นของยุโรปที่ใช้อย่างแพร่หลายไม่สร้างมลพิษแต่อย่างใด โดย รมว.พลังงาน มอบหมายให้ กฟผ.ประสานชุมชน และทำแผนงานนำเสนอต่อกระทรวง เพื่อพิจารณาเป็นต้นแบบและโครงการนำร่องต่อไป
นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า กฟผ.รายงานว่าต้นทุนโรงไฟฟ้าแต่ละแห่งอยู่ที่ประมาณ 100 ล้านบาท โดยโมเดลการร่วมทุนที่นำเสนอ คือ กฟผ. ภาคเอกชน และชุมชน ร่วมทุนฝ่ายละ 1 ส่วน หากชุมชนเห็นชอบคาดว่าจะสร้างได้เสร็จสิ้นภายใน 10 เดือน ต้องทำประชาคมให้ชัดเจน โดยข้าวโพดและเศษวัสดุจากต้นข้าวโพดของอำเภอแม่แจ่ม พบว่ามีถึงปีละ 90,000 ตัน จากการลงพื้นที่พบว่าปัจจุบันสหกรณ์การเกษตรแม่แจ่ม จำกัด ได้ดำเนินการนำซังข้าวโพดมาใช้เลี้ยงสัตว์และทำเป็นเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่งที่สามารถนำมาเป็นเชื้อเพลิงให้โรงไฟฟ้าชุมชนได้ ส่วนวงเงินร่วมทุนของชุมชนทุกโรงไฟฟ้าชุมชน ซึ่งจะมีสัดส่วนถือหุ้นร้อยละ10-30 นั้น จะให้เอกชนเป็นผู้ออกเงินให้ก่อน แล้วชุมชนนำเงินปันผลหรือรายได้อื่น ๆ มาผ่อนใช้ภายหลัง เพราะชุมชนนอกจากได้รายได้จากการขายไฟฟ้าแล้วยังได้รายได้จากการขายซังข้าวโพดที่ กฟผ.ศึกษาว่าราคา 500-700 บาท/ตัน รวมทั้งสามารถนำขยะความชื้นต่ำมาเป็นเชื้อเพลิงได้อีกด้วย
“ภาคเอกชนและชุมชนสนใจร่วมทุนโรงไฟฟ้าชุมชนจำนวนมากทั่วประเทศคาดมูลค่าลงทุนจะสูงถึง 250,000 ล้านบาท ก็อยากเห็นแม่แจ่มเป็นโมเดลต้นแบบ ผมจะเสนอต่อ ครม.ให้รู้จัก เป้าหมายไม่ได้ต้องการไฟฟ้า แต่ต้องการให้ชุมชนเพิ่มรายได้สร้างเศรษฐกิจฐานราก และจะนำโครงการนำขยะพลาสติกจากน้ำมันมาใช้ในพื้นที่อีกด้วย ” รมว.พลังงาน กล่าว
ด้านนายณัณฐณัชช์ เกิดใหม่ ประธานชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านอำเภอแม่แจ่ม เปิดเผยว่า โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนจากเศษวัสดุทางการเกษตรเป็นโครงการที่คนในชุมชนแม่แจ่มอยากให้เกิดขึ้น เนื่องจากหลายหมู่บ้านยังไม่มีไฟฟ้าใช้ หากสามารถนำซังข้าวโพดมาใช้ผลิตไฟฟ้าได้ถือเป็นเรื่องที่ดี ทำให้ชาวบ้านสามารถเข้าถึงพลังงานไฟฟ้า มีส่วนร่วมเป็นเจ้าของ ทั้งนี้ มั่นใจว่าแม่แจ่มเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพสามารถจัดหาเชื้อเพลิงให้กับโรงไฟฟ้าชุมชนได้อย่างเพียงพอ เนื่องจากปัจจุบันในพื้นที่มีปริมาณซังข้าวโพด ลำต้น และเปลือกปีละหลายหมื่นตัน ไม่นับรวมแกลบ ฟางข้าว และขยะจากครัวเรือนที่ยังสามารถนำมาใช้ได้ จึงมั่นใจว่าโรงไฟฟ้าชุมชนจะสร้างประโยชน์ สร้างอาชีพให้กับคนแม่แจ่ม ส่วนเรื่องเงินลงทุนในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชุมชนจะเป็นรูปแบบการระดมทุน หรือการกู้เงินจากกองทุนหมู่บ้าน กองทุนอนุรักษ์พลังงาน ยังอยู่ระหว่างการพูดคุยหาแนวทางที่ชัดเจนต่อไป.-สำนักข่าวไทย