กรุงเทพฯ 17 ส.ค.- ครม.เศรษฐกิจเห็นชอบ 3 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเร่งด่วน อัดฉีดเงินออกสู่ระบบ 3 แสนล้านบาท ครอบคลุมรายย่อยถือบัตรสวัสดิการ เกษตรกร คนระดับกลางหนุนท่องเที่ยว หวังดันจีดีพีขยายตัวร้อยละ 3 ในปี 2562
วันนี้มีการประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ หรือ ครม.เศรษฐกิจนัดแรก มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุม วาระที่อยู่ในความสนใจคือมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยที่ประชุมเห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นการเร่งด่วน อัดฉีดเงินออกสู่ระบบ 316,000 ล้านบาท มี 3 กลุ่มที่ให้การช่วยเหลือ คือผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ, เกษตรกรประสบปัญหาภัยแล้ง, คนระดับกลางหนุนท่องเที่ยว หวังดันจีดีพีขยายตัวร้อยละ 3 ในปี 62
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า จากปัญหาเศษฐกิจโลกมีความผันผวน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นกับประชาชนให้เกิดการใช้จ่าย และส่งเสริม นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ขยายการลงทุน ที่ประชุมคณะกรรมการคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจจึงเห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเร่งด่วน 3 ด้านหลัก ได้แก่
1.มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง 13 จังหวัด มอบหมายให้ ธ.ก.ส.ช่วยเหลือลูกค้า 909,000 ราย ด้วยการบรรเทาภาระดอกเบี้ย เป็นเวลา 1 ปี วิธีการคือเตรียมปล่อยสินเชื่อฉุกเฉินภัยแล้ง วงเงิน 50,000 ล้านบาท ยกเว้นดอกเบี้ยในปีแรก ปล่อยกู้ 50,000 บาทต่อราย ยกเว้นดอกเบี้ยปีแรก รวมทั้งยังปล่อยสินเชื่อฟื้นฟูซ่อมแซมความเสียหาย วงเงิน 5,000 ล้านบาท ปล่อยกู้ 500,000 บาทต่อราย นอกจากนี้ ยังช่วยลดภาระต้นทุนการปลูกข้าวนาปีฤดูกาลผลิตปี 62/63 สำหรับผู้ขึ้นทะเบียนเกษตรกร 3 ล้านราย
2.มาตรการดูแลปรับเพิ่มสวัสดิการสำหรับผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐรอบใหม่ ในช่วง 2 เดือน สำหรับกลุ่มรายได้ต่ำกว่า 1 แสนบาท รับค่าครองชีพเพิ่ม 200 บาท/คน สำหรับกลุ่มรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท/ปี รับค่าครองชีพ 300 บาท/คน ทั้งสองกลุ่มได้รับเพิ่มเป็น 500 บาทในช่วงระยะสั้น 2 เดือน
3.มาตรการกระตุ้นการอุปโภคบริโภคและการลงทุนในประเทศ เช่น การกระตุ้นการท่องเที่ยว ผ่านมาตรกร “ชิม ช้อบ ใช้” เน้นไปที่การกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ โดยเห็นชอบแจกเงิน 1,000 บาทให้ใช้ท่องเที่ยวจังหวัดนอกเขตภูมิลำเนา แต่มีเงื่อนไข คือ ต้องมีอายุ 18 ปีขึ้นไป เป้าหมายวางไว้ 10 ล้านคน และต้องลงทะเบียนขอรับสิทธิ์ผ่านแอปที่กระทรวงการคลังจัดขึ้น นอกจากนี้ ยังสามารถนำค่าใช้จ่ายจากการเดินทางท่องเที่ยวมาขอเงินคืน ได้อีก 15% ของค่าใช้จ่าย แต่วงเงินต้องไม่เกิน 30,000 บาท นอกจากนี้ ยังเสนอยกเว้นวีซ่านักท่องเที่ยวจีนกับอินเดียเพิ่มเติม
ส่วนการส่งเสริมการลงทุนในประเทศ สำหรับผู้ที่ซื้อเครื่องจักรสามารถนำค่าใช้จ่ายมาลดหย่อนภาษีได้ 1.5 เท่าเป็นเวลา 5 ปี รวมถึงช่วยเหลือเอสเอ็มอีรายย่อยในมาตรการต่างๆ ผ่านกองทุนของรัฐบาล ทั้งจากธนาคารออมสินและกรุงไทย โดยมี บสย. ช่วยค้ำประกัน รวมถึงมาตรการสินเชื่อบ้าน จะปรับมาเป็นเงื่อนไขผ่อนปรน โดยมีธนาคารออมสิน และ ธ.อ.ส. พร้อมปล่อยสินเชื่อ วงเงินรวม 52,000 ล้านบาท รวมเงินทั้งหมดรัฐบาลอัดฉีดเงินออกสู่ระบบ 3.16 แสนล้านบาท หวังดีจีดีพีในปี 62 ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 3 ทั้งนี้ ภาพรวมทั้งหมดจะต้องผ่านการเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอีกครั้งในสัปดาห์หน้า.-สำนักข่าวไทย