กรุงเทพฯ 5 พ.ค. – กกร.ต้องการให้รัฐบาลใหม่ออกมาตรการทางภาษี กระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศภายใต้เงื่อนไขหักลดหย่อนภาษี พร้อมขอเก็บข้อมูลเศรษฐกิจก่อนปรับประมาณการเศรษฐกิจใหม่ในการประชุมครั้งหน้า และเตรียมมอบสมุดปกขาวให้รัฐบาลใหม่ปลายเดือนนี้ เพื่อเสนอสิ่งที่เอกชนต้องการจะเห็น
นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย แถลงภายหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร. ว่า เมื่อรัฐบาลใหม่ตั้งเสร็จและเข้ามาบริหารประเทศ ทาง กกร.ต้องการให้รัฐบาลออกมาตรการทางภาษีจูงใจให้ประชาชนใช้จ่ายเพิ่มขึ้นและให้ผลโดยรวมต่อเศรษฐกิจประเทศ รวมถึงต้องการความต่อเนื่องของหลายโครงการที่รัฐบาลปัจจุบันดำเนินการทั้งโครงสร้างพื้นฐาน โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) การช่วยเหลือสนับสนุนและพัฒนาเอสเอ็มอี เป็นต้น ขอให้โครงการที่ดีเดินหน้าต่อไป
“อยากให้ทุกภาคส่วนเดินหน้าทำเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อเนื่อง เพราะหากเสียเวลาไปการลงทุนที่ทำกันมาระดับหนึ่งแล้วจะสูญเปล่า เปรียบได้กับการปลูกต้นไม้ หากล้มต้นไม้ไปดอกผลก็จะไม่ได้รับในที่สุด” นายปรีดี กล่าว
สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจไทย ทาง กกร.จะเก็บข้อมูลต่อไปจนถึงสิ้นเดือนนี้ จากนั้นจะทำการประเมินเป้าหมายทางเศรษฐกิจใหม่ในการประชุม กกร.เดือนกรกฎาคมตามรอบประเมินทุก ๆ ไตรมาส ซึ่งขณะนี้ เห็นสัญญาณการส่งออกหดตัว อย่างไรก็ตาม ด้านการท่องเที่ยวยังคงมีนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศอย่างต่อเนื่องก็จะเป็นส่วนที่ช่วยพยุงเศรษฐกิจได้ อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าภาคส่งออกทยอยส่งออกได้ลดลง ในส่วนของภาคเอกชนมีหน้าที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปข้างหน้า
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า การส่งออกของไทยในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.-เม.ย.) มีมูลค่ารวม 80,543.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ติดลบร้อยละ 1.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมาจากหลายปัจจัย การเพิ่มตัวเลขประมาณการส่งออกปีนี้คงลำบาก มีโอกาสส่งออกลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมามากกว่า
ด้านการเมืองเป็นที่ทราบกันดีว่ามีการจับขั้วกันตั้งรัฐบาลเรียบร้อยแล้ว เมื่อได้รัฐบาลใหม่ก็อยากให้เดินหน้าโครงการหลักต่อเนื่อง อยากเห็นบทบาทรัฐบาลทำงานร่วมกับภาคเอกชนผ่านเวทีการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ (กรอ.) โดยจัดประชุมระดับนายกรัฐมนตรีเป็นประธานทุก ๆ 6 เดือน และการประชุมที่มีระดับรองนายกรัฐมนตรี ปลัดกระทรวง ทุก ๆ 3 เดือน โดย กกร.จะมีการส่งมอบสมุดปกขาวให้รัฐบาลใหม่ปลายเดือนนี้ เพื่อเสนอสิ่งที่เอกชนต้องการจะเห็นรัฐบาลดำเนินการ
ขณะนี้ประเทศไทยเผชิญปัญหาภายนอก โดยปัญหาที่คิดว่าสงครามการค้าจะจบลง แต่กลับมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นก็ต้องปรับตัวภาคเอกชนร่วมมือกันอย่างดีแล้ว ในช่วงระยะกลางถึงระยะยาวมีหลายเรื่องต้องเดินหน้าทำต่อเนื่องโดยเน้นความต่อเนื่องเป็นสำคัญ ทั้งด้านการศึกษา การเตรียมคนรับงานใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอีอีซี เป็นต้น
นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สงครามการค้าที่เกิดขึ้นไทยเป็นจุดศูนย์กลางจะได้ประโยชน์ โดยสินค้ากลุ่มที่สหรัฐซื้อจากจีนไม่ได้ จีนซื้อจากสหรัฐไม่ได้ ก็สามารถซื้อจากไทย จึงยังมีโอกาสที่จะส่งออกสินค้าในส่วนนี้ เช่น สินค้ากลุ่มอาหารในงานแสดงสินค้าอาหาร หรือ THAIFEX – World of Food Asia สัปดาห์ที่ผ่านมาได้รับการตอบรับอย่างดี เป็นต้น สำหรับอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทขณะนี้อยู่ในระดับ 32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ผู้ส่งออกพอรับได้ไม่เป็นประเด็นแต่อย่างใด และการที่ประเทศไทยเป็นประธานอาเซียนเจ้าภาพจัดการประชุมหลายครั้งก็จะส่งผลดีต่อไทยด้วย โดยเดือนมิถุนายนนี้จะมีการจัดการประชุมหลายครั้งทั้งระดับรัฐมนตรี การประชุมของนักธุรกิจ ไม่ต่ำกว่า 10 คณะ
ทางด้านการประชุม กกร.วันนี้ (5 มิ.ย.) ที่ประชุม มองว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกปี 2562 เติบโตร้อยละ 2.8 นับเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 17 ไตรมาส ได้รับแรงฉุดจากการส่งออกที่หดตัว ขณะที่ภาพรวมการใช้จ่ายในประเทศทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนยังเป็นตัวหนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวเป็นบวกได้
สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจเดือนเมษายน 2562 ซึ่งเป็นเดือนแรกของไตรมาส 2/2562 การส่งออกยังคงหดตัวต่อเนื่อง และทำให้ภาพ 4 เดือนแรกของปีนี้ การส่งออกหดตัวเป็นวงกว้างทั้งในรายการสินค้าส่งออกหลักและตลาดส่งออกสำคัญของไทย สอดคล้องกับการส่งออกของประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งสะท้อนผลจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ขณะที่ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติขยายตัวเกือบทุกภูมิภาค ยกเว้นตลาดนักท่องเที่ยวหลักอย่างจีนและรัสเซียในช่วงที่เหลือของปี 2562 สถานการณ์ต่าง ๆ บ่งชี้ว่า มีความเป็นไปได้มากขึ้นที่สหรัฐอาจจะขึ้นภาษีสินค้าจีนล็อตที่เหลือ เมื่อประกอบกับภาพความซบเซาของการค้าโลก ทำให้การส่งออกของไทยมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบมากขึ้นจนกระทั่งอาจจะไม่สามารถขยายตัวเป็นบวกได้ในปีนี้ นอกจากนี้ ปัจจัยการเมืองภายในประเทศที่ยังต้องจับตาการจัดตั้งรัฐบาล และการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ที่ล่าช้าออกไป ซึ่งจะส่งผลต่อการเบิกจ่ายงบลงทุน ก็เพิ่มความเสี่ยงที่เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังอาจจะขยายตัวชะลอลงกว่าที่เคยประเมินไว้เช่นกัน
ที่ประชุม กกร.จึงมีความเป็นห่วงและหวังว่าสถานการณ์ต่าง ๆ จะทยอยมีความชัดเจนมากขึ้น หากเป็นเช่นนั้นภาวะการใช้จ่ายในประเทศและการกระตุ้นจากภาครัฐ ก็จะสามารถเป็นแรงส่งเศรษฐกิจในยามที่ภาคต่างประเทศประสบกับสถานการณ์ที่ยากลำบากได้ ทั้งนี้ กกร.จะมีการทบทวนและประเมินภาพเศรษฐกิจอีกครั้งก่อนที่จะประกาศตัวเลขประมาณการใหม่ครั้งถัดไป ทั้งนี้ กกร.ได้จัดเตรียมข้อเสนอของภาคเอกชนต่อรัฐบาลชุดใหม่ เพื่อให้ทราบถึงประเด็นปัญหาและข้อเสนอต่าง ๆ ในการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยก่อนที่รัฐบาลชุดใหม่จะเริ่มปฎิบัติหน้าที่ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องการสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน การสร้างความเข้มแข็งของภาคเอกชน การพัฒนาทรัพยากรบุคคล เป็นต้น.-สำนักข่าวไทย