กรุงเทพฯ 25 ก.พ. – “กฤษฎา” มอบนโยบาย กยท.ทุกจังหวัด เร่งสำรวจแผนก่อสร้างถนนยางพารา 76 จังหวัด กำชับสำรวจพื้นที่ปลูกจริงและเปิดกรีดให้ชัดเจน เพื่อจะได้นำมาวางแผนว่าควรลดพื้นที่ปลูกลงเท่าไร แล้วสนับสนุนให้ทำเกษตรกรรมอื่นทดแทน แก้ปัญหาผลผลิตยางล้นความต้องการของตลาดและราคาตกต่ำซ้ำซาก
นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า สั่งการให้ปลัดกระทรวงฯ และการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เร่งสำรวจความต้องการสร้างถนนดินซีเมนต์ปรับปรุงคุณภาพด้วยยางพารา (Para Soil Cement Road) ขององค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) 76 จังหวัด ซึ่งเดือนนี้เปิดประชุมสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เพื่ออนุมัติข้อบัญญัติจังหวัดว่าด้วยการทำถนน โดยจะพิจารณาอนุมัติเงินสะสมหรือเปลี่ยนแปลงงบประมาณมาดำเนินการ จึงมอบหมายให้เกษตรและสหกรณ์จังหวัดและ กยท.จังหวัดตรวจสอบว่ามีจังหวัดใดบ้างที่ผ่านสภาจังหวัดแล้ว จากนั้นให้รายงานมาที่กระทรวงเกษตรฯ และ กยท. ซึ่งคาดว่า โครงการสร้างถนนยางพารา 1 หมู่บ้าน 1 กิโลเมตร หากทำทุกจังหวัดสามารถดึงยางพาราออกจากระบบได้ถึง 1 ล้านตัน
นายกฤษฎา กล่าวเพิ่มเติมว่า กำชับให้ทั้งปลัดกระทรวงฯ และ กยท. สำรวจพื้นที่ปลูกยางพาราทั้งพื้นที่ปลูกจริงและพื้นที่เปิดกรีดใหม่ ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ มีเป้าหมายว่าลดพื้นที่ปลูกยางที่มีอายุเกิน 25 ปีจำนวน 400,000 ไร่ต่อปี ทั้งนี้ เดิม กยท.กำหนดว่า 200,000 ไร่ โค่นยางอายุมากทิ้ง แล้วปลูกยางใหม่ ส่วนอีก 200,000 ไร่ให้ปลูกพืชยืนต้นอื่นทดแทน แต่ผลผลิตยางยังไม่ลดลงในระดับที่สมดุลกับความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ ทำให้ราคายางพาราไม่มีเสถียรภาพ จึงมีแนวคิดว่าให้แบ่งการจัดการเป็น 2 รูปแบบ คือ หากเกษตรกรรายใดมียางที่อายุเกิน 25 ปีบางส่วนให้โค่นทิ้งหมดทุกแปลง แล้วส่งเสริมให้ปลูกพืชอื่นหรือทำเกษตรกรรมอย่างอื่นทดแทน โดยรวมกลุ่มกันทำเกษตรแปลงใหญ่เป็นต้นแบบ มีเจ้าหน้าที่ไปให้ความรู้ตั้งแต่การผลิตจนถึงการจำหน่าย จัดหาคู่ค้าเพื่อรับประกันว่า มีผู้ซื้อแน่นอน ไม่ต่ำกว่าราคาประกัน โดยอำนวยความสะดวกตั้งจุดรับซื้อหรือตั้งโรงงานแปรรูปผลผลิตในพื้นที่ สำหรับสวนยางพาราที่อายุไม่ถึง 25 ปี ให้หาแนวทางลดจำนวนต้นยางแต่ละแปลงแล้วปลูกพืชอื่นแซม เช่น กาแฟ โกโก้ ไม้ผลต่าง ๆ เป็นต้น จากนี้ไปเมื่อข้าราชการกระทรวงเกษตรฯ จะแนะนำให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนวิถีการทำเกษตรกรรมจำเป็นต้องสร้างแรงจูงใจ เนื่องจากเกษตรกรคุ้นชินกับการทำเกษตรแบบดั้งเดิม หากจะปลูกพืชชนิดอื่นต้องให้เกษตรกรมั่นใจว่าไม่มีความเสี่ยง การปรับเปลี่ยนจึงจะประสบผลสำเร็จ
“ราคายางพาราปรับสูงขึ้นเป็นลำดับ ล่าสุดราคาส่งมอบที่ท่าเรือ (FOB) กิโลกรัมละ 51 บาท สำหรับราคายางแผ่นรมควันที่ตลาดกลาง กยท.ทั้ง 6 แห่งกิโลกรัมละ 45 – 46 บาท ส่วนราคาน้ำยางสดเฉลี่ย 40 บาทต่อกิโลกรัม หากสามารถทำได้ทั้งเพิ่มปริมาณการใช้ยางพาราภายในประเทศและลดพื้นที่ปลูกยาง จนผลผลิตไม่ล้นตลาดราคาจะปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจนเกษตรกรชาวสวนยางมีความเป็นอยู่ที่มั่นคง” นายกฤษฎา กล่าว.-สำนักข่าวไทย