อุทัยธานี 30 ก.ย.- คมนาคมจับมือเกษตรฯ kick off โครงการนำยางพาราปรับปรุงความปลอดภัยทางถนน ล่าสุด kick off จังหวัดอุทัยธานี เป็นจังหวัดที่ 6 ซึ่งเป็นจังหวัดในภาคกลางที่มีเกษตรกรชาวสวนยางและกลุ่มสหกรณ์ที่เข้มแข็ง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี ว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดโครงการนำการนำยางพารามาใช้เพื่อปรับปรุงเพิ่มความปลอดภัยทางถนน (Kick Of) พร้อมด้วยนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุทัยธานี นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง นายปฐม เฉลยวาเรศ อธิบดีกรมทางหลวงชนบท รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ร่วมงาน
นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมกันผลักดันโครงการนำยางพารามาใช้เพื่อปรับปรุงความปลอดภัยทางถนน โดยนำยางพารามาเป็นส่วนผสมในการทำเครื่องกั้นถนนครอบวัสดุยางพาราหรือ rubber fender berier และหลักนำทางยางธรรมชาติ โดยคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณตั้งต้นโครงการฯ เพื่อใช้ภายในเดือนพฤศจิกายน 2563 วงเงินกว่า 2,700 ล้านบาท หลังจากนั้นได้เดินหน้า kick off สร้างการรับรู้กับชาวสวนยางเริ่มจากจังหวัดจันทบุรี ซึ่งพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดโครงการ และกระทรวงคมนาคม ยังได้ลงพื้นที่เริ่ม kick off โครงการในหลายจังหวัด สตูล นครพนม บึงกาฬ เลย และล่าสุดจังหวัดอุทัยธานี
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ระบุด้วยว่าหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมทั้งกรมทางหลวง (ทล.) และกรมทางหลวงชนบท (ทช.) กำหนดแผนการดำเนินโครงการ ดังกล่าวปีงบประมาณ 2563-2565 โดยมีปริมาณการใช้ยางพารา 1,007,951 ตัน และจะนำ 2 ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมาใช้ติดตั้งบนถนนของ ทล.และ ทช.ระยะทางรวม 12,282 กิโลเมตร ประโยชน์ที่เกษตรกรชาวสวนยางจะได้รับ 30,108 ล้านบาท และจะมีการสำรวจตรวจสอบเพื่อเปลี่ยนแผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต และหลักนำทางยางธรรมชาติ ทดแทนที่เสื่อมสภาพหรือมีความเสียหายเกิดขึ้น ซึ่งต้องใช้ยางพาราทุกปี ปีละไม่น้อยกว่า 336,000 ตัน
สำหรับปริมาณการใช้ยางพาราในโครงการดังกล่าว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมระบุว่าปี 2562 มีปริมาณการใช้น้ำยางพาราสดในโครงการของรัฐมากกว่า 129,000 ตัน แต่เมื่อมีโครงการนำร่องการนำยางพารามาผลิตใช้อุปกรณ์ความปลอดภัยบนท้องถนน 3 เดือนนี้ พบว่ามีปริมาณการใช้ยางพารากว่า 50,000 ตัน ซึ่งถือว่าเป็นปริมาณการใช้เท่ากับปริมาณปี 2561
โดยกระทรวงคมนาคมและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มั่นใจว่าโครงการยางพาราเพื่อความปลอดภัยทางถนนนี้ เมื่อมีเป้าหมายในการใช้ยางพาราแต่ละปีชัดเจน จะช่วยสร้างเสถียรภาพด้านราคาให้แก่ยางพาราเพิ่มขึ้น หลังจากการเริ่มต้นโครงการเมื่อวันที่ 25 สิงหาคมที่ผ่านมา 1 เดือน ล่าสุดราคาน้ำยางพารากิโลกรัมละ 63 บาท ขณะที่ราคายางก้อนถ้วยมีเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดอุทัยธานีนิยมผลิตเพื่อทำการขายนั้น ก่อนที่จะมีโครงการราคาตกต่ำถึงกิโลกรัมละ 8 บาท วันนี้ราคายางก้อนถ้วยอยู่ที่กิโลกรัมละ 22 บาท โดยมีเป้าหมายที่จะผลักดันให้ราคายางก้อนถ้วยกิโลกรัมละ 28 บาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าอุทัยธานี เป็นจังหวัดภาคกลางของไทยที่มีการปลูกยางพาราจำนวนมาก โดยข้อมูลล่าสุดของการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) พบว่ามีเกษตรกรชาวสวนยาง 1,994 ราย พื้นที่ปลูกยางรวมทั้งสิ้น 35, 878 ไร่ โดยผลผลิตยางพาราแบ่งเป็นยางแผ่นดิบ 598 ตัน คิดเป็นร้อยละ 77.25 และยางก้อนถ้วย 155 ตันคิดเป็นร้อยละ 20.02 ( ข้อมูลณวันที่ 23 กันยายน 2563) นอกจากนี้ ยังเป็นจังหวัดที่มีสหกรณ์ชาวสวนยางที่เข้มแข็ง โดยกระทรวงคมนาคมและกระทรวงเกษตรฯ มั่นใจว่าการดำเนินโครงการใช้ยางพาราเพื่อความปลอดภัยทางถนน ซึ่งจะใช้สหกรณ์สวนยาง เป็นกลไกในการรับซื้อยางจากชาวสวน จะมีส่วนในการสนับสนุนให้มีการกำหนดราคารับซื้อที่สร้างรายได้แก่ชาวสวนยางในระดับที่น่าพอใจ ทำให้ราคายางพาราในประเทศ มีเสถียรภาพได้ในระยะยาว.-สำนักข่าวไทย