กรุงเทพฯ 29 ม.ค.- โฆษกศาลยุติธรรม แจง กรณีจำเลย 2 สามีภรรยาทำลายกำไลข้อเท้า EM หนีคดีฉ้อโกงแชร์ 120 ล้านบาท ยันกำไลข้อเท้าไม่สามารถบอกพฤติกรรมได้ แค่ส่งสัญญาณผิดปกติและตำแหน่งที่อยู่เท่านั้น ยันกรณีนี้ติดต่อจำเลยและประสานบุคคลอ้างอิงทันที
จากกรณีที่ นายทศพล หรือต้อม บุญมานุช อายุ 28 ปี และ น.ส.ปิยพร หรือฟิล์ม แส่สันเทียะ อายุ 28 ปี สองสามีภรรยา จำเลย ในข้อหา ร่วมกันฉ้อโกงด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ, ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน, ร่วมกันกู้ยืมเงินอันเป็นการฉ้อโกงประชาชน และนำเข้าซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ในคดีหลอกให้ ผู้เสียหายกว่า 50 คนโอนเงินเข้าร่วมเล่นแชร์ออนไลน์ลงทุนทำธุรกิจร้านขายโทรศัพท์มือถือ สร้างความเสียหายประมาณ 120 ล้านบาท ได้ร่วมกันทำลายกำไล EM หรือกำไลข้อเท้าอิเล็กทรอนิกส์โดยใช้กรรไกรตัวใหญ่สภาพคมๆ ช่วยกันตัด ที่ศาลสั่งให้สวมไว้เพื่อหลบหนีในขั้นตอนการรอฟังคำพิพากษา
นายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม เปิดเผยว่า กรณีดังกล่าว หลังผู้ต้องหา ทั้ง 2 มีการทำลายกำไล EM อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ที่ใช้ในตรวจสอบหรือจำกัดการเดินทางของบุคคลที่ตกเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ได้รับการปล่อยชั่วคราว และเมื่อมีการกระทำผิดเงื่อนไขของศาล ระบบจะมีการส่งสัญญาณแจ้งเตือนมาที่ศูนย์ควบคุม ที่สำนักงานศาลยุติธรรม ว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้น จากนั้น เจ้าหน้าที่ได้ทำการติดต่อไปยังจำเลยทั้งสองคนและเบอร์บุคคล อ้างอิง อีก 2 คนแต่ติดต่อ ได้เพียงคนเดียวและไม่สามารถให้รายละเอียดใดๆได้ เจ้าหน้าที่ จะรายงานพฤติการณ์ของผู้ต้องหา หรือ จำเลย ต่อศาลอาญาว่ามีพฤติกรรมหลบหนี ศาลออกหมายจับมาดำเนินคดี
นายสุริยัณห์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กำไล EM จะสามารถบอกได้เพียงตำแหน่งของผู้ที่รับการปล่อยตัวนั้นอยู่ที่ใด กระทำผิดเงื่อนไขของศาลหรือไม่ แต่ไม่สามารถบอกพฤติกรรมได้ หากมีการกระทำผิดซ้ำอีก และผู้ที่ฝ่าฝืนจะ จะถูกเพิกถอนการประกันตัว ออกหมายขังและถูกดำเนินคดีในข้อหาอื่นๆเพิ่มเติม อาทิ ข้อหา ทำให้เสียทรัพย์ และมีการเรียกค่าเสียหายทางแพ่งด้วย พร้อมเตือนผู้ต้องหาและจำเลยที่ได้รับโอกาสในการปล่อยชั่วคราว ไปแล้ว โดยมีการติดอุปกรณ์ กำไล EM ว่าอย่าทำลายโอกาส ที่ศาลยุติธรรมได้ให้สิทธิ์ผู้ถูกกล่าวหาออกไปใช้ชีวิตปกติในระหว่างการถูกดำเนินคดี เพราะหากทำลายโอกาสจะถูกจำกัดพื้นที่ คือต้องเข้าไปใช้ชีวิตอยู่ในเรือนจำในระหว่างรอการพิจารณาในชั้นศาล
สำหรับสถิติการใช้อุปกรณ์ดังกล่าวในการรายงานของศาล เมื่อวันที่ 27 มกราคม ที่ผ่านมาพบ มีการใช้ใน 164 ศาลทั่วประเทศ รวม7 พัน 39 เครื่อง.-สำนักข่าวไทย