กทม.18 ม.ค.-นักวิชาการ ทีดีอาร์ไอ แนะทางออกปัญหาฝุ่น PM 2.5 เสนอรัฐแก้ทั้งระบบ ควบคุมการใช้รถยนต์ในพื้นที่จราจรติดขัด ปรับโครงสร้างภาษีรถยนต์ น้ำมัน จูงใจให้ใช้พลังงานสะอาด
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ เปิดเวทีเสวนาหัวข้อ ‘PM 2.5 ผลร้ายการพัฒนา สวนทางความยั่งยืน’ โดยเชิญนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการพัฒนาเมือง มาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมอง ความคิดเห็น ต่อปัญหาค่าฝุ่นละออง PM 2.5 เกินค่ามาตรฐาน ที่คนกรุงกำลังเผชิญ ซึ่งสาเหตุหลักมาจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ทุกชนิด โดยเฉพาะรถยนต์ดีเซล
รศ.จำนง สรพิพัฒน์ กรรมการบริหารสมาคมวิจัยวิทยาการขนส่งแห่งเอเชีย เผยสถิติเฉลี่ยความเร็วรถยนต์ในช่วงเวลาเร่งด่วนระหว่างปี 2551-2560 พบพื้นที่ชั้นนอกลดลงถึงร้อยละ 22 สะท้อนปริมาณรถยนต์ที่เพิ่มสูง ขึ้นต่อเนื่อง แบ่งเป็น รถยนต์ส่วนบุคคลเพิ่มขึ้นร้อยละ 8 ต่อปี รถบรรทุกส่วนบุคคลก็เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5 ต่อปี ซึ่งข้อมูลล่าสุดพบจำนวนรถจดทะเบียนในกรุงเทพฯ สูงกว่า 5 ล้านคัน เป็นรถเบนซินร้อยละ 48 รถดีเซลร้อยละ 38 และรถอื่นๆ อีกร้อยละ14 ดังนั้นภาครัฐควรออกมาตรการจำกัด การใช้รถยนต์ ในพื้นที่ที่มีการจราจรติดขัด ควบคู่กับการกำหนดรูปแบบขนส่งสาธารณะ พัฒนาผังเมืองใหม่ ลดการใช้รถยนต์ในการเดินทางจึงจะแก้ปัญหามลพิษทางอากาศได้ในระยะยาว
ด้าน ผศ.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ในเมืองกรุงประสบกับปัญหามลพิษมานานแล้ว แต่สังคมเพิ่งตื่นตัว ที่ผ่านมารัฐมีระบบเตือนภัยมากน้อยแค่ไหน เพื่อให้ประชาชนเตรียมตัวรับมือกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว หากย้อนดูผังเมือง กทม.เมื่อปี 2556 จะพบว่าสภาพอากาศที่เริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน อยู่บริเวณที่อยู่อาศัยหนาแน่น ซึ่งปัญหานี้ไม่ได้เกิดจากธรรมชาติ แต่เป็นนโยบายรัฐ ที่มุ่งพัฒนาเมืองหลวงให้กระชับมีแต่ตึกสูง ดังนั้นการวางผังเมืองหลังจากนี้ ภาครัฐควรคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ตัวแปรของแต่ละพื้นที่ ทั้ง ลม ความร้อน พร้อมกับเพิ่มพื้นที่สีเขียว
ขณะที่นายอดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ที่ปรึกษาด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์ ทีดีอาร์ไอ ระบุทางออกของปัญหามลพิษ PM 2.5 ภาครัฐควรสร้างระบบตรวจจับควันดำ ระงับการใช้รถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดอย่างต่อเนื่อง ปรับโครงสร้างภาษีประจำปีรถยนต์ ให้สะท้อนกับประสิทธิภาพการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ ปรับโครงสร้างภาษีน้ำมันเพื่อส่งเสริมพลังงานสะอาด มุ่งเน้นพัฒนาเมืองให้เป็น Compact City ลดการเดินทางของประชาชน ตลอดจนใช้กลไกคณะกรรมการ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน .-สำนักข่าวไทย