กรุงเทพฯ 6 ธ.ค. – ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน พ.ย.61 ปรับตัวลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 อยู่ที่ระดับ 80.5 จากปัญหาราคาสินค้าเกษตรสำคัญที่ยังคงตกต่ำและสงครามการค้าสหรัฐ-จีน ทำให้กำลังซื้อชะลอตัวลง
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนพฤศจิกายน 2561 ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 มาอยู่ที่ระดับ 80.5 จากเดือนก่อนหน้าที่ 81.3 เนื่องจากผู้บริโภครู้สึกว่าราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นและราคาสินค้าเกษตรหลายชนิดทรงตัวระดับต่ำ โดยเฉพาะยางพาราและปาล์มน้ำมัน รวมทั้งนักท่องเที่ยงจีนที่ลดลง และสงครามการค้าสหรัฐและจีนที่เริ่มรุนแรงมากขึ้น จนถึงสถานการณ์ทางการเมืองของไทย ส่งผลให้กำลังซื้อชะลอตัวลง ซึ่งค่าดัชนียังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติที่ระดับ 100 สะท้อนให้เห็นว่าผู้บริโภคยังมีความกังวลถึงสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมที่ยังฟื้นตัวไม่มาก
ทั้งนี้ จากผลการสำรวจภาวะการณ์ใช้จ่ายของผู้บริโภค ทั้งดัชนีความเหมาะสมในการซื้อรถยนต์คันใหม่ การซื้อบ้านหลังใหม่ และความเหมาะสมในการลงทุนทำธุรกิจเอสเอ็มอี ลดลงทุกรายการ แต่ดัชนีความเหมาะสมในการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวกลับปรับตัวดีขึ้นในรอบ 3 เดือน รวมทั้งดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคต แม้จะปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 92.0 แต่ใกล้เคียงระดับปกติที่ 100
อย่างไรก็ตาม เริ่มมีปัจจัยบวกมากขึ้น หลังจากรัฐบาลมีมาตรกรกระตุ้นการท่องเที่ยวผ่านการยกเว้นค่าธรรมเนียม Visa on Arrival และปัญหาสงครามการค้าเริ่มมีการเจรจากัน ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรหลายรายการเริ่มปรับตัวดีขึ้น และช่วงสิ้นปีประชาชนมีการเฉลิมฉลองตามเทศกาลปีใหม่ รวมทั้งรัฐบาลออกมาตรการช้อปช่วยชาติกระตุ้นเศรษฐกิจจะส่งผลบวกต่อการจับจ่ายเพิ่มขึ้น และการท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวทั้งจีนจะเริ่มกลับมาและประเทศอื่น ๆ ก็มาเที่ยวไทยมากขึ้น ซึ่งน่าจะทำให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนธันวาคม 2561 กลับมาปรับตัวดีขึ้น โดยไตรมาส 4 น่าจะขยายตัวร้อยละ 3.5-4 ทำให้หอการค้าไทยยังคงคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปีนี้ร้อยละ 4.2 แต่ยังต้องติดตามท่าทีกลุ่มโอเปคที่จะมีผลต่อราคาน้ำมันตลาดโลก และปัญหาสงครามการค้าจะยืดเยื้อหรือไม่ ขณะที่ปีหน้าคาดว่าเศรษฐกิจไทยมีโอกาสเติบโตเกินร้อยละ 4-4.5 โดยยังมีหลายปัจจัยที่ต้องตาม คือ ทางออกสงครามการค้า ราคาน้ำมัน เป็นต้น.-สำนักข่าวไทย