กรุงเทพฯ 14 ม.ค.- มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผย ผลสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนธันวาคม 2567 พบว่า ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ในรอบ 10 เดือน เนื่องจากผู้บริโภคเริ่มเห็นว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลช่วยผ่อนคลายให้สถานการณ์เศรษฐกิจเริ่มปรับตัวดีขึ้นและการท่องเที่ยวในประเทศเริ่มปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง แนะรัฐเร่งออกมาตรการคูณสองกระตุ้นเศรษฐกิจ-ปรับโครงสร้างหนี้ รักษาเสถียรภาพการเงิน
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษา ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า เศรษฐกิจมีการฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยความเชื่อมั่นเริ่มกลับมา สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือน ธ.ค. ที่อยู่ที่ 57.9 เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ในรอบ 10 เดือน เมื่อเทียบกับดัชนีในเดือนพฤศจิกายน ที่อยู่ในระดับ 50.4 54.3 และ 66.1 ตามลำดับ ทั้งนี้การที่ดัชนียังอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ (ที่ระดับ 100) แสดงว่า ผู้บริโภคยังไม่มีความมั่นใจเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ โอกาสในการหางานทำ และรายได้ในอนาคต เพราะมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองในประเทศ และค่าครองชีพที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง ตลอดจนปัญหาเศรษฐกิจโลกที่มีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะชะลอตัวลงจากสงครามการค้าที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งจะส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจไทยและการจ้างงานมีโอกาสฟื้นตัวได้ช้าในอนาคต ซึ่งจะทำให้รายได้ในอนาคตของผู้บริโภคมีความไม่แน่นอนสูง ซึ่งยังคงมีโอกาสบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั้งในปัจจุบันและในอนาคตได้อย่างต่อเนื่องในระยะอันใกล้นี้
“เราคาดหวังกับมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐ คือ Easy-e receipt ขณะที่การแจกเงิน 10,000 บาทให้ผู้สูงอายุจะเกิดในช่วงตรุษจีน และยังต้องติดตามคุณสู้เราช่วย ว่าจะเป็นไปแบบไหน ช่วยได้มากน้อยแค่ไหน ดังนั้นจึงอยากเห็นมาตรการคูณสองด้วย เพื่อเป็นแรงส่งให้กับเศรษฐกิจ โดยปีนี้ประมาณการว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ 3% บวกลบ โดยเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยยังมีศักยภาพอยู่” นายธนวรรธน์ กล่าว
นายวชิร คูณทวีเทพ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายยุทธศาสตร์ และผู้อำนวยการสถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ในเดือน ธ.ค. อยู่ที่ 48.7 ต่ำกว่าระดับ 50 ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 โดยดัชนีด้านเศรษฐกิจ ต่ำกว่า 50 จุดเป็นเดือนแรก มองสัญญาณภาวะเศรษฐกิจยังชะลอตัว และยังไม่เชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นของหอการค้าไทย พบว่า มีปัจจัยบวก จากการที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 2.25% ต่อปี การดำเนินมาตรการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ทั้งการช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท และการเตรียมแจกเงิน 10,000 บาท ให้กลุ่มคนสูงอายุ ในช่วงเดือน ม.ค.68 นอกจากนี้ยังได้ปัจจัยบวกจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวในไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง การส่งออกของไทยในเดือน พ.ย.67 ที่ขยายตัวได้ 8.17% รวมถึง ครม.มีมติเห็นชอบขยายเวลาคงอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 7% ออกไปอีก 1 ปี เป็นต้น
ขณะที่ปัจจัยลบที่มีผลต่อดัชนีความเชื่อมั่นของหอการค้าไทย เช่น การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกช้าลงหรือชะลอตัวลง เศรษฐกิจยังฟื้นตัวช้า รวมถึงปัญหาค่าครองชีพ รวมถึงผู้บริโภคมีความระมัดระวังในการจับจ่าย ความกังวลต่อสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ของโลกที่ยังยืดเยื้อ ทั้งสงครามรัสเซีย-ยูเครน การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับฮามาส รวมถึงความเสียหายของภาคธุรกิจและประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติ หรือน้ำท่วมหนักในบางพื้นที่. -517-สำนักข่าวไทย