กรุงเทพฯ 11 พ.ย. – ศูนย์วิจัยกสิกรไทยชี้เกณฑ์ใหม่สินเชื่อบ้านสร้างเสถียรภาพเศรษฐกิจระยะยาว หนุนธุรกรรมซื้อขายก่อนมาตรการจะมีผลบังคับ เม.ย.62
บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด มองว่าหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นมาตรการเพื่อเสริมสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจระยะยาว โดยเงื่อนไขของมาตรการที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น (เมื่อเทียบกับ Consultation Paper) คาดว่าจะหนุนธุรกรรมการซื้อขายที่อยู่อาศัยก่อนที่มาตรการจะมีผลบังคับใช้ในเดือนเมษายน 2562
ทั้งนี้ คาดว่ากิจกรรมการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลปี 2561 น่าจะมีประมาณ 186,500 หน่วย เพิ่มขึ้นจากที่คาดการณ์ไว้เดิมที่ 171,500 หน่วย และเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 14.1 จากตัวเลขการโอนกรรมสิทธิ์ปี 2560 ซึ่งอยู่ที่ 163,468 หน่วย ขณะที่แนวโน้มการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลในช่วงไตรมาส 1/2562 คาดว่าจะเติบโตประมาณ ร้อยละ 8.9 หรือประมาณ 45,850 หน่วย และสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยอาจเติบโตสูงถึงประมาณร้อยละ 7.0 ในปี 2561 (จากคาดการณ์เดิมร้อยละ 5.7) และขยายตัวในระดับสูงต่อเนื่องในกรอบประมาณร้อยละ 7.5-8.0 ในไตรมาส 1/2562 ซึ่งเป็นช่วงโค้งสุดท้ายก่อนที่เกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยใหม่จะมีผลบังคับใช้
อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่เหลือของปี 2562 กิจกรรมในตลาดที่อยู่อาศัยและภาพสินเชื่อบ้านคงจะขึ้นอยู่กับทิศทางเศรษฐกิจ กำลังซื้อของผู้บริโภค และการแข่งขันของผู้ประกอบการ ในจังหวะเวลาที่ต้นทุนทางการเงินมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น. – สำนักข่าวไทย