กรุงเทพฯ 17 ต.ค. – ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย-จีน ไตรมาส 3 ปรับตัวดีขึ้นเกือบทุกมิติ สะท้อนนักธุรกิจจีนเชื่อมั่นเศรษฐกิจไทย
นายจิตติ ตั้งสิทธิ์ภักดี ประธานหอการค้าไทย-จีน แถลงดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย-จีน ไตรมาส 3 ปี 2561 โดยสำรวจ 500 ผู้ประกอบการที่น่าเชื่อถือ ว่า ระดับความเชื่อมั่นเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2561 ปรับตัวดีขึ้นเกือบทุกมิติ ทั้งด้านมูลค่าการค้ารวมระหว่างประเทศ มูลค่าการลงทุนรวมระหว่างประเทศ และความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ
ส่วนผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ประเทศไทยจะได้รับ ทั้งจากมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) และจากจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เดินทางมาประเทศไทยยังมีแนวโน้มสูงขึ้น ยกเว้นเพียงรายได้จากการส่งออกสินค้าที่คาดการณ์ว่าจะอยู่ในระดับทรงตัวเท่ากับไตรมาส 1 ปี 2561 ขณะเดียวกันการเพิ่มขึ้นของระดับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่าง 2 ประเทศกลับไม่มากเท่าการสำรวจในอดีต
สำหรับอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับนักท่องเที่ยวชาวจีนที่ภูเก็ตนั้น ส่งผลกระทบนักท่องเที่ยวลดลงระยะสั้นเดือนกันยายนที่ผ่านมาเท่านั้น แต่จากการแก้ไขปัญหาส่งผลให้นักท่องเที่ยวจีนยังเชื่อมั่น เนื่องจากรัฐบาลไทยแก้ไขปัญหาและทำความเข้าใจกับนักท่องเที่ยวและรัฐบาลจีนได้อย่างรวดเร็ว ประกอบกับผลจากการที่ทางหอการค้าไทย-จีนร่วมมือไบ๋ตู้ (Baidu) เครื่องมือสืบค้นข้อมูลของจีนผ่านบริษัท ไทย ซี.ซี. จำกัด ก็ได้ช่วยทำความเข้าใจชาวจีนส่งผลให้สถานการณ์ปรับตัวดีขึ้น เชื่อว่าตลอดปีนี้นักท่องเที่ยวจีนจะเข้ามาท่องเที่ยวไทยรวมประมาณ 10 ล้านคน
ด้านความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน พบว่า ปรับตัวดีขึ้นทุกมิติ รายได้จากการส่งออกสินค้าปรับตัวเพิ่มขึ้น แม้จะเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย การปรับลดลงมีสาเหตุมาจากผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐที่กระทบสินค้าส่งออกของไทยไปจีน ซึ่งเป็นกลุ่มสินค้ากึ่งสำเร็จรูปที่จีนนำไปผลิตต่อและส่งออก การที่ประเทศไทยผลิตสินค้าส่งออกและไทยอยู่ในห่วงโซ่การผลิตของจีน จึงได้รับผลบ้าง บวกกับเงินบาทแข็งค่าขึ้น สินค้าส่งออกโดยเฉพาะสินค้าเกษตรได้รับผลกระทบ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์น่าจะมีนโยบายแก้ไข หากไม่การส่งออกจะถดถอย เพราะการส่งออกข้าวขณะนี้ลดลงถือว่าถดถอยพอสมควร ดังน้ัน จึงเป็นจุดพึงระวังและต้องจับตามอง
ส่วนผลสำรวจมุมมองอนาคตในช่วง 6 เดือนถัดไป พบว่า ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างไทยและจีนดีขึ้นทุกมิติ รายได้จากการส่งออกสินค้าปรับตัวเพิ่มขึ้น แม้จะเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยก็ตาม ซึ่งสรุปได้ว่าจนกระทั่งถึงสิ้นปีนี้ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและจีนทางด้านเศรษฐกิจนั้นน่าดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ไม่มากเท่าการสำรวจครั้งที่ผ่านมา
ด้านผลการสุ่มสำรวจเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 ปี 2561 เทียบกับไตรมาส 2 ปี 2561 พบว่า การบริโภคของภาคเอกชนภายในประเทศซบเซา แม้การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ และการส่งออกไปยังต่างประเทศ มีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้น แต่ถูกฉุดรั้งด้วยปัญหาการบริโภค ทำให้การเติบตัวของเศรษฐกิจไทยทรงตัว โดยในช่วง 6 เดือนแรกปี 2561 จีดีพีโตร้อยละ 4.8 แต่ลักษณะยังกระจุกบางกลุ่มยังไม่กระจายอย่างทั่วถึงทุกภาคส่วนในระบบเศรษฐกิจ
สำหรับมุมมองผู้ประกอบการมองเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 ปี 2561 พบว่า นักธุรกิจมีมุมมองว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตดีกว่าไตรมาส 3 น่าจะมาจาก 3 ภาคทางเศรษฐกิจ คือ การลงทุนภาคเอกชน การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ และการส่งออกของประเทศไทย แต่ภาคธุรกิจการเกษตร ป่าไม้ และการประมง ยังมีความวิตกกังวล ว่า กำลังซื้อลดลงและราคาสินค้าเกษตรปรับตัวลดลงอาจส่งผลต่อเศรษฐกิจในวงกว้างได้ หากพิจารณาภาพรวมตลอดปี 2561 ยังเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะโตได้มากกว่าร้อยละ 4.5-4.6. -สำนักข่าวไทย