กรมการแพทย์แผนไทยฯ 23ส.ค.-กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ไขปม ‘อังกาบหนู’ มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ เสริมภูมิคุ้มกัน แต่ยังไม่มีฤทธิ์ในการฆ่าเซลล์มะเร็งที่เด่นชัด แนะควรบริโภคทีละน้อย และไม่ควรบริโภคต่อเนื่อง
นพ.ขวัญชัย วิศิษฐานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันการแพทย์แผนไทย แถลงกรณีสมุนไพรอังกาบหนู ซึ่งก่อนหน้านี้มีประชาชนจำนวนมาก รับข้อมูลจากสื่อออนไลน์ โดยอวดอ้างสรรพคุณสามารถรักษาโรคมะเร็ง ว่าอังกาบหนูถือเป็นสมุนไพรพื้นบ้าน พบไช้ในคัมภีร์แพทย์แผนไทยโบราณและอินเดีย ตามตำรับยาถือรสของยาเป็นหลัก อังกาบหนูมีรสเย็น รสเบื่อเมา คล้ายตัวยาที่นิยมนำมาเป็นตำรายารักษามะเร็ง เช่น ข้าวเย็นเหนือ ข้าวเย็นใต้ หัวร้อยรู แต่การเป็นพิษต่อร่างกายก็จะเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็งโดยเช่นกัน ดังนั้น ภูมิปัญญาแผนไทยจะไม่นิยมปรุงยาด้วยสมุนไพรชนิดเดียว แต่จะนำมาหลายชนิดเพื่อลดพิษของสมุนไพรบางตัว
นพ.ขวัญชัย กล่าวด้วยว่า การเกิดกระแสอังกาบหนูฟรีเวอร์นั้นนับเป็นการดี ที่ทำให้สมุนไพรพื้นบ้านที่ถูกลืมกลับสู่สังคมอีกครั้ง แต่การเลือกใช้เลือกกินขอให้ประชาชนตระหนักถึงความปลอดภัยและข้อมูลที่ถูกต้อง ยึดหลักกินในปริมาณน้อยๆ และไม่ควรกินต่อเนื่อง พร้อมขอฝากเตือนผู้จำหน่ายต้นสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่โอ้อวดสรรพคุณเกินจริง อย่าเอาความเจ็บป่วยของคนไข้ไปทำมาหากิน เริ่มต้นผู้ป่วยมะเร็งควรบำบัดรักษาด้วยการแพทย์แผนปัจจุบันให้เร็วที่สุด เพื่อไม่ให้เสียโอกาสและยังสามารถเลือกใช้สมุนไพรเพื่อช่วยบรรเทาอาการข้างเคียงได้
ด้าน ภญ.สุภาภรณ์ ปิติพร หัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวว่า อังกาบหนูจัดอยู่ในตระกูลเดียวกับ ทองพันชั่ง ใช้น้ำคั้นจากใบรักษาแผลพุพองเหงือกเป็นหนองแผลในปาก มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรียในช่องปาก หมอแผนไทยใช้รักษาเริม งูสวัดหรือพิษงู รวมถึงริดสีดวงทวาร โดยทองพันชั่งและอังกาบหนูขึ้นได้ง่ายทุกพื้นที่ ตำราพื้นบ้านใช้รักษาฝี หรืออาจมองเทียบเคียงกับอาการพุพองจากมะเร็ง
“แต่จากการศึกษาพบว่าสารสกัดต้นอังกาบหนูมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระเสริมภูมิคุ้มกันจริง แต่ยังไม่ได้มีฤทธิ์ในการฆ่าเซลล์มะเร็งที่เด่นชัด อาจเป็นผลดีกับผู้ป่วยกลุ่มนี้และอีกกลไกที่สำคัญคือ มีฤทธิ์ต้านอักเสบ ช่วยลดปวดจากการอักเสบได้” ภญ.สุภาภรณ์ กล่าว.-สำนักข่าวไทย