25 กรกฎาคม 2568
แปลและเรียบเรียงบทความ : อดิศร สุขสมอรรถ
ตรวจทานและพิสูจน์อักษร : คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
ข้อมูลน่าสงสัย :
มีความกังวลใจเกี่ยวกับการเสริมความงามและความเสี่ยงมะเร็ง เมื่อมีการเชื่อมโยงการเสริมหน้าอกด้วยซิลิโคนกับการป่วยเป็นมะเร็งเต้านม
บทสรุป :
1.การเสริมหน้าอกด้วยซิลิโคนผิวไม่เรียบ เพิ่มความเสี่ยงมะเร็ง BIA-ALCL เล็กน้อย
2.แต่การเสริมหน้าอกด้วยซิลิโคนผิวเรียบ ไม่พบความเสี่ยงมะเร็ง BIA-ALCL แต่อย่างใด
3.ผู้เสริมหน้าอกตวรตรวจคัดกรองเต้านมเป็นประจำทุก 2-3 ปี
FACT CHECK : ตรวจสอบข้อเท็จจริง :
ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลพิสูจน์ว่า การเสริมหน้าอกด้วยซิลิโคนเพิ่มความเสี่ยงการเป็นมะเร็งเต้านม
แต่พบว่าการใช้ซิลิโคนบางชนิด เพิ่มความเสี่ยงเล็กน้อยต่อการเกิดมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดที่หาได้ยาก
BIA-ALCL มะเร็งต่อมน้ำเหลืองจากซิลิโคนเสริมหน้าอก
BIA-ALCL เป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดที่หาได้ยาก ที่รู้จักในชื่อ Anaplastic Large Cell Lymphoma (ALCL)
ซึ่งการเกิด ALCL จากการเสริมหน้าอกด้วยซิลิโคนจะเรียกอาการนี้ว่า Breast Implant-Associated Anaplastic Large Cell Lymphoma หรือ BIA-ALCL
BIA-ALCL จะเกิดบริเวณเนื้อเยื่อแผลเป็นรอบ ๆ ถุงซิลิโคน บริเวณต่อมน้ำเหลืองใกล้ ๆ เต้านม ไม่ได้เกิดบริเวณเต้านมโดยตรง
การรักษา BIA-ALCL คือการผ่าเอาถุงซิลิโคนออกมาพร้อมกับก้อนมะเร็ง บางรายอาจต้องรักษาร่วมด้วยเคมีบำบัดและรังสีบำบัด หากตรวจพบได้เร็วสามารถรักษาให้หายขาดได้
BIA-ALCL พบแต่ผู้ใช้ซิลิโคนผิวไม่เรียบเท่านั้น
ข้อมูลพบว่า ผู้ป่วย BIA-ALCL ทั้งหมด มาจากการใช้ซิลิโคนผิวไม่เรียบทั้งหมด ทำให้ในปี 2019 องค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา (FDA) สั่งให้บริษัท Allergan เรียกคืนซิลิโคนผิวไม่เรียบที่จำหน่ายในสหรัฐฯ ทั้งหมด หลังพบว่ามีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็ง BIA-ALCL
อัตราความเสี่ยงมะเร็ง BIA-ALCL ตามชนิดของซิลิโคนดังนี้
1.ผิวเรียบ (Smooth) – ไม่มีโอกาสเกิดโรค BIA-ALCL
2.ผิวทรายแบบละเอียด (Microtexture) – มีโอกาสเกิดโรค BIA-ALCL เท่ากับ 1 : 82,000
3.ผิวทรายแบบหยาบ (Macrotexture) – มีโอกาสเกิดโรค BIA-ALCL เท่ากับ 1 : 3,200
4.โพลียูรีเทน (Polyurethane) – มีโอกาสเกิดโรค BIA-ALCL เท่ากับ 1 : 2,800
BIA-SCC มะเร็งจากซิลิโคนเสริมหน้าอก
อีกโรคมะเร็งที่พบได้ยากจากการเสริมหน้าอกด้วยซิลิโคน คือมะเร็งสเควมัสเซลล์ คาร์ซิโนมา (Squamous Cell Carcinoma : SCC)
การเกิด SCC จากการเสริมหน้าอกด้วยซิลิโคนจะเรียกอาการนี้ว่า Breast Implant-Associated Squamous Cell Carcinoma หรือ BIA-SCC
BIA-SCC จะเกิดบริเวณเนื้อเยื่อแผลเป็นรอบ ๆ ถุงซิลิโคนคล้าย BIA-ALCL แต่ผู้เชี่ยวชาญยังไม่ทราบแน่ชัดว่า ปัจจัยใดทำให้ผู้เสริมหน้าอกด้วยซิลิโคนมีความเสี่ยงเป็นมะเร็ง BIA-SCC
แต่การที่ BIA-ALCL และ BIA-SCC เป็นอุบัติการณ์ของโรคที่เกิดขึ้นได้ยากมาก ผู้ที่ทำการเสริมหน้าอกด้วยซิลิโคนจึงไม่จำเป็นต้องผ่าตัดเอาซิลิโคนออกแต่อย่างใด แต่ควรเฝ้าระวังด้วยการตรวจคัดกรองเต้านมเป็นประจำทุก 2-3 ปี
ข้อมูลอ้างอิง :
https://www.mayoclinic.org/healthy-lifestyle/womens-health/expert-answers/breast-implants-and-cancer/faq-20057774
https://pmc.ncbi.nlm.nih.gov/articles/PMC9354718/
https://www.bangmodaesthetic.com/article/content08082019
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter