ปทุมวัน 4ก.ค.-มูลนิธิหญิงชายก้าวไกลจัดนิทรรศการปลุกพลังสังคม หยุดคุกคามทางเพศ ชี้การแต่งตัวโป๊ ไม่ใช่ปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดเหตุความรุนแรงทางเพศ ขณะที่ผู้ตกเป็นเหยื่อมีน้อยสุด 1-5 ปี
มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่าย จัดแสดงนิทรรศการ “พลังสังคม หยุดคุกคามทางเพศ” โชว์เสื้อผ้าขณะที่ผู้ถูกกระทำสวมใส่ มีการแต่งกายมิดชิด ซึ่งสะท้อนมายาคติของสังคม ที่มีต่อผู้ถูกกระทำ ด้วยการกล่าวหาว่าแต่งกายล่อแหลม นำไปสู่การก่อเหตุคุมคามทางเพศ
น.ส.อังคณา อินทสา หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า นิทรรศการครั้งนี้ ต้องการสร้างการรับรู้ใหม่ ว่าการแต่งกายล่อแหลมไม่ใช่สาเหตุหลักที่ก่อให้เกิดการคุกคามทางเพศ เนื่องจากสถิติข่าวที่นำเสนอผ่านสื่อ ตั้งแต่ปี 2558 กว่า 300 ข่าว พบ ผู้กระทำส่วนใหญเป็นเพศชาย ส่วนผู้ที่ถูกกระทำมีอายุน้อยสุด 1-5 ปี และอายุมากที่สุด 86 ปี ขณะที่ปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดเหตุ มาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ร้อยละ 30 รองลงมาคือ ผู้กระทำไม่ยับยั้งอารมณ์ทางเพศกว่า ร้อยละ 23
น.ส.อังคณา กล่าวอีกว่า หากมองในอายุของผู้ตกเป็นเหยื่อมีตั้งแต่วัยเด็ก ไปจนถึงผู้สูงอายุ สะท้อนให้เห็นว่าเรื่องผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ ไม่ได้มีสรีระที่น่าสนใจ หรือดึงดูด จนทำให้กระตุ้นความรู้สึกทางเพศ แต่ยังตกเป็นเหยื่อถูกคุกคามทางเพศ ซึ่งรากของปัญหานั้น มาจากระบบความคิดของเพศชาย ผู้กระทำ มองผู้หญิงเป็นเพียงวัตถุทางเพศ จึงแสดงออกผ่านการกระทำความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ เช่น ข่มขืน รุมโทรม อนาจาร เป็นต้น สังคมต้องร่วมกันสร้างความตระหนัก การรับรู้ สร้างคุณค่าที่มีอยู่ในตัวของผู้หญิง ไม่จำนนต่อค่านิยม หยุดมายาคติ ที่สังคมโยนความผิดให้ผู้ถูกกระทำ .-สำนักข่าวไทย