กรุงเทพฯ 20 เม.ย. – ผอ.มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เปิดสถิติคู่รักฆ่ากันตายเพิ่มขึ้น เหตุค่านิยมผู้ชายเป็นใหญ่และอาวุธปืนหาง่าย เสนอสังคมอย่ามองเป็นเรื่องส่วนตัว ต้องเร่งแก้กฎหมาย
จากกรณี “จีจี้” สุพิชชา เน็ตไอดอล อายุ 20 ปี และอินฟลูเอนเซอร์ชื่อดัง ถูกพบเป็นศพถูกยิงพร้อมแฟนหนุ่มนักเรียนเตรียมทหาร ในคอนโดฯ หรูย่านอโศก นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เปิดเผยถึงแนวโน้มสถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งทางมูลนิธิฯ เก็บสถิติข่าวความรุนแรงในครอบครัว พบว่ามีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เฉพาะปี 2564 มีข่าวความรุนแรงในครอบครัวถึง 372 ครั้ง แบ่งเป็นการฆ่ากันตาย 195 ราย ทำร้ายร่างกายกัน 82 ราย ฆ่าตัวตาย 52 ราย ความรุนแรงทางเพศของบุคคลในครอบครัว 30 ราย และความรุนแรงอื่นๆ ในครอบครัว 13 ราย โดยกลุ่มอายุที่พบถูกคู่รักกระทำความรุนแรงมากที่สุดคือ ผู้หญิงอายุ 20-30 ปี รองลงมเป็นกลุ่มอายุ 15-20 ปี
ปัญหาการใช้ความรุนแรงในครอบครัวยังคงมีสาเหตุหลักมาจากค่านิยมชายเป็นใหญ่ เวลาคู่รักมีปัญหาทะเลาะกัน ผู้ชายมักจะเป็นฝ่ายใช้ความรุนแรงทำร้ายผู้หญิง ใช้อำนาจควบคุมทุกอย่าง เพื่อไม่ให้ไปยุ่งกับคนอื่น ซึ่งล้วนเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซ้ำๆ ก่อนจะเกิดเหตุฆ่ากันตาย
อีกสาเหตุหลักที่ทำให้ผู้หญิงอดทน ไม่สามารถก้าวออกจากความรุนแรงได้ เพราะหลังถูกกระทำความรุนแรงแล้วส่วนใหญ่ผู้ชายจะมาขอโทษ ขอโอกาสปรับตัว ขอคืนดี แต่เมื่อใดที่โมโห การใช้ความรุนแรงก็กลับมาเกิดขึ้นซ้ำอีก ขณะเดียวกันไม่กล้าบอกพ่อแม่ ผู้ปกครอง ว่าตัวเองอยู่กับผู้ชายก่อนแต่ง เพราะเกรงจะถูกสังคมตรีตราว่าชิงสุกก่อนห่าม ผู้หญิงหลายคนที่ตกเป็นเหยื่อจึงไม่กล้าบอกพ่อแม่ ต้องอดทนอยู่กับความรุนแรง บางเคสรุนแรงถึงขั้นถูกคนรักฆ่าตาย ขณะที่ผู้ชายถูกปลูกฝังให้เล่นอาวุธปืนมาตั้งแต่เด็ก เมื่อโตขึ้นหลายคนก็ยิ่งชื่นชอบ เพราะรู้สึกว่าตัวเองมีอำนาจ สามารถควบคุมทุกอย่างได้ ประกอบกับ อาวุธปืนในยุคนี้หาง่ายมาก เป็นองค์ประกอบที่ทำให้เกิดการฆ่ากันได้ง่ายขึ้น ส่วนกลไกการแก้ปัญหาก็ไร้ประสิทธิภาพ โดยเฉพาะกลไกร้องทุกข์ผ่านตำรวจที่ยังไม่มีความเป็นมิตรมากพอ เพราะเจ้าหน้าที่มักมองว่าเป็นเรื่องส่วนตัว
พร้อมทั้งเสนอการแก้ปัญหานี้ว่าสังคมไม่ควรเคยชินกับเรื่องความรุนแรงในครอบครัว เพราะเป็นปัญหาใหญ่ พรรคการเมืองต่างๆ ควรให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ และผลักดันเป็นนโยบาย นำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ขณะเดียวกันควรเร่งแก้ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว เน้นยึดความต้องการของเหยื่อที่ถูกกระทำความรุนแรงเป็นสำคัญ และหากจะให้โอกาสผู้กระทำความรุนแรงได้ปรับตัว ต้องมีเงื่อนไขและระยะเวลาที่ชัดเจน ส่วนกลไกทางกฎหมาย เจ้าหน้าที่ไม่ควรมองว่าเป็นเรื่องส่วนตัว และควรมีพนักงานสอบสวนหญิง ที่มีความเข้าอกเข้าใจเหยื่อที่ถูกกระทำอย่างแท้จริง.-สำนักข่าวไทย