กรุงเทพฯ 29 มิ.ย. – ธปท.ยอมรับเงินบาทอ่อนค่ามากกว่าประเทศอื่นในช่วง 2 เดือน มั่นใจประเทศไทยรับมือเงินไหลออกได้ ชี้แนวโน้มเศรษฐกิจยังขยายตัวดี ส่งออกครึ่งปีโตเกินร้อยละ 10
นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เงินบาทที่อ่อนค่าลงทะลุ 33.20 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เป็นการอ่อนค่าทิศทางเดียวกับเงินสกุลภูมิภาค โดยยอมรับว่าในช่วงเดือนพฤษภาคมและมิถุนายนเงินบาทอ่อนค่ามากกว่าประเทศอื่นและผันผวน โดยมีค่าความผันผวนตั้งแต่ต้นปีประมาณร้อยละ 6 ขณะที่เงินบาทตั้งแต่ต้นปี 2561 อ่อนค่าประมาณร้อยละ 1.27 เป็นอันดับ 7 ของภูมิภาค เนื่องจากกระแสเงินทุนไหลออกในตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตร ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก เพราะนักลงทุนกังวลความตึงเครียดการค้าโลก ทำให้มีการเทขายสินทรัพย์เสี่ยง อย่างไรก็ตาม แม้เงินทุนไหลออกจากตลาดทุน แต่ก็มีเงินไหลเข้าจากนักธุรกิจไทย ทำให้ดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายค่อนข้างสมดุล ขณะเดียวกันประเทศไทยมีกันชนเพียงพอรองรับแรงปะทะจากความผันผวนได้ โดยมีสํารองระหว่างประเทศอยู่ที่ประมาณ 210,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมากกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้น 3.5เท่า
“การที่เงินบาทอ่อนค่ายังไม่สามารถตอบได้ว่าเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจทั้งหมด เพราะมีผลทำให้เงินเฟ้อปรับเพิ่มขึ้นและผู้ส่งออกมีกำไรเงินบาทมากขึ้น แต่ต้องจับตามองการนำเข้า โดยเฉพาะการนำเข้าน้ำมัน เพราะเงินบาทที่อ่อนค่า ทำให้ต้นทุนนำเข้าน้ำมันเพิ่มขึ้น” นายดอน กล่าว
ส่วนภาพรวมเศรษฐกิจไทยยังขยายตัวต่อเนื่อง โดยเศรษฐกิจเดือนพฤษภาคม 2561 ขยายตัวดีตามการส่งออกสินค้าส่งออกที่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 13.1 มูลค่าส่งออก 22,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นการขยายตัวสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในหลายหมวดสินค้า ทั้งปิโตรเคมี ชิ้นส่วนยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิกส์ สินค้าเกษตร โดยเฉพาะทุเรียน และคาดว่าแนวโน้มการส่งออกสินค้าเดือนมิถุนายนยังขยายตัวดี เพราะคู่ค้ายังมีคำสั่งซื้อเข้ามาต่อเนื่อง โดยคาดว่าการส่งออกครึ่งปีแรกจะโตได้มากกว่าร้อยละ 10 ส่วนทั้งปี 2561 การส่งออกจะขยายตัวร้อยละ 9
ส่วนการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวชัดเจนขึ้นขยายตัวร้อยละ 5.6 เนื่องจากรายได้ครัวเรือนภาคเกษตรกรรมปรับสูงขึ้นตามผลผลิตสินค้าเกษตรที่ออกมาดีขึ้นมาก ประกอบกับราคาสินค้าปรับสูงขึ้น โดยเฉพาะข้าว ยกเว้นราคายางพารา และปาล์มน้ำมันที่ราคายังต่ำกดดันรายได้เกษตกร .- สำนักข่าวไทย