กรุงเทพฯ 3 พ.ค.-นายกทันตแพทยสภาชี้หมอฟันรีวิวสินค้าความงาม หากทำในฐานะวิชาชีพ และทำให้เกิดความเสื่อมเสีย ถือว่าผิดจรรยาบรรณ
ทพ.ไพศาล กังวลกิจ นายกทันตแพทยสภา กล่าวถึงกรณีการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ เครื่องสำอาง ทางสื่อออนไลน์ โดยใช้บุคคลที่มีชื่อเสียง น่าเชื่อถือหรือบุคลากรทางการแพทย์เข้าไปเกี่ยวข้อง ว่า ในส่วนของวิชาชีพทันตกรรมนั้น หากมีทันตแพทย์โฆษณาหรือรีวิวสินค้าความงาม จะถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพทันตกรรมหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่ว่า ทันตแพทย์ที่รีวิวสินค้านั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นสินค้าความงาม หรือสินค้าอื่นๆ หากกระทำในฐานะวิชาชีพและเป็นเหตุให้เสื่อมเสียเกียรติศักดิ์ของวิชาชีพ ถือว่าผิดจรรยาบรรณ ซึ่งเป็นไปตามข้อบังคับทันตแพทยสภาว่าด้วยจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพทันตกรรม พ.ศ.2538 ซึ่งมีทั้งสิ้น 6 หมวด คือ
หมวด 1 ว่าด้วยความประพฤติทั่วไปของผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม
หมวด 2 ว่าด้วย การประกอบวิชาชีพทันตกรรม
หมวด 3 ว่าด้วย การโฆษณาการประกอบวิชาชีพทันตกรรม
หมวด 4 ว่าด้วย การปฏิบัติต่อผู้ร่วมวิชาชีพ
หมวด 5 ว่าด้วย การปฏิบัติต่อผู้ร่วมงาน
หมวด 6 ว่าด้วย การทดลองในมนุษย์
นายกทันตแพทยสภา กล่าวต่อว่า ข้อบังคับดังกล่าวนี้ มุ่งเน้นดูแลการประกอบวิชาชีพทันตกรรมและการกระทำที่เกี่ยวข้องกับทางทันตกรรมเท่านั้น ดังจะเห็นได้จากหมวด 2,3,4,5และ 6 ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพทันตกรรม สำหรับประเด็นการรีวิวสินค้าความงามที่ดูเหมือนจะเป็นการโฆษณาสินค้าความงามก็เป็นสินค้าที่ไม่เกี่ยวข้องกับทันตกรรม ดังนั้นการรีวิวจึงไม่ขัดต่อจรรยาบรรณในหมวด 3 ของข้อบังคับว่าด้วยจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพทันตกรรม
แต่อย่างไรก็ตามจรรยาบรรณในหมวด 1 ความประพฤติทั่วไปของผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม ข้อ 2 ระบุว่า “ผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม ต้องไม่ประพฤติหรือกระทำการใดๆ อันเป็นเหตุเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพทันตกรรม” และ ข้อ 3 “ผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม ต้องดำรงตนในสังคมโดยธรรม เคารพและปฏิบัติตามบรรดาบทกฎหมายของประเทศ” ดังนั้น ต้องดูว่า การรีวิวสินค้าความงามดังกล่าวผิดกฎหมายหรือไม่ หากตำรวจสั่งฟ้องและศาลพิพากษาว่ามีความผิด ก็ต้องพิจารณาต่อว่า การไปรีวิวสินค้าไปในนามส่วนตัว หรือเป็นการทำในฐานะวิชาชีพ และเป็นเหตุเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพทันตกรรมหรือไม่
ทพ.ไพศาล กล่าวต่อว่า คำว่า“เกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพทันตกรรม”มีความ หมายว่า มาตรฐานความประพฤติที่วัดจากการพิจารณาความเสื่อมเสียที่จะเกิดขึ้นแก่ส่วนรวมของวิชาชีพทันตกรรมเป็นหลัก ทั้งนี้ถือว่าผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม เป็นผู้มีเกียรติ จะต้องประพฤติให้สมกับความไว้วางใจจากประชาชน และต้องรักษาขื่อเสียง เกียรติคุณแห่งวิชาชีพ
“หากไม่พบว่าทำให้เสื่อมเสียก็ยกคำร้องไป แต่หากพบว่าเสื่อมเสีย ก็จะมีบทลงโทษ ตั้งแต่ ว่ากล่าวตักเตือน ภาคทัณฑ์ พักใช้ใบอนุญาต เพิกถอนใบอนุญาต” นายกทันตแพทยสภา กล่าว.-สำนักข่าวไทย