กรุงเทพฯ27 เม.ย.- ทาทา สตีล (ประเทศไทย) ระบุ ความต้องการเหล็กทรงยาว เม.ย.ถึงมิ.ย.ปีนี้ชะลอตัว แต่ก.ค.ถึงส.ค.นี้จะปรับตัวดีขึ้น
นายราจีฟ มังกัล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทาทา สตีล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตเหล็กทรงยาว เปิดเผยว่า ตามการคาดการณ์ทางเศรษฐกิจ การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของประเทศไทยจะยังคงแข็งแกร่ง และประมาณการขยายตัวเศรษฐกิจว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี) ปีนี้(2561) จะอยู่ในระดับร้อยละ 4
ขณะที่โครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี คาดว่า จะเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตและการลงทุนของประเทศ ประกอบกับการที่ภาครัฐได้พยายามเร่งรัดการเสริมสร้างความเข้มแข็งของโครงสร้างพื้นฐานสาธารณูปโภคต่าง ๆ คาดว่าจะส่งผลให้ความต้องการเหล็กก่อสร้างดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง
แต่ในช่วงเดือน เม.ย.ถึงมิ.ย.นี้ ภาพรวมความต้องการเหล็กทรงยาวในประเทศ ยังคงซบเซามาก มูลค่าการก่อสร้างของไทยและการบริโภคเหล็กทรงยาว ยังอยู่ในระดับต่ำเนื่องจากกำลังซื้อของโครงการขนาดใหญ่มีน้อยลง ความต้องการเหล็กเส้น ยังคงชะลอตัว อย่างไรก็ตาม มีแนวโน้มที่จะปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่เดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคมที่จะถึงนี้ ดังนั้น จึงคาดว่า ตลอดปีนี้ ความต้องการเหล็กทรงยาวในประเทศไทย ผลจากรัฐบาลผลักดันออกมา จะทำให้ 5.9-6 ล้านตัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 5 หากรวมเหล็กทรงแบน จะมีความต้องการใช้เหล็กมากถึง 17.5 ล้านตัน
โดยประเมินจากการที่ทาทา สตีล (ประเทศไทย) พบและหารือกับลูกค้าที่ขณะนี้เชื่อว่าโครงการภาครัฐจะเดินหน้าและมีการสั่งซื้อเหล็กมากขึ้นตามมาในระยะอันใกล้นี้ ตลอดปีนี้
ด้านผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเหล็กทรงยาวยังคงใช้กำลังการผลิตในระดับต่ำกว่าร้อยละ 40 ของการผลิตที่มีอยู่ หากจะให้ธุรกิจอยู่รอดได้จะต้องใช้กำลังการผลิตร้อยละ 70 ในส่วนผู้ประกอบการเหล็กในประเทศไทยเริ่มมีการติดตั้งและใช้งานเตาอินดัคชั่นจากจีนเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะเมื่อจีนปิดโรงงานทั้งหมดเตาหลอมเหล็กลักษณะนี้จะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมก็จะย้ายการลงทุนในไทยเพิ่มมากขึ้น
ส่วนการที่สหรัฐประกาศใช้มาตรา 232 เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมโลหะในประเทศ ขณะนี้ ยังคงไม่มีผลกระทบโดยตรงในภูมิภาคอาเซี่ยน อย่างไรก็ตาม มีความเสี่ยงที่เหล็กจากประเทศอื่นจะถ่ายโอนมายังภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะจากจีน ขณะที่ความต้องการเหล็กในประเทศจีน คาดว่า จะทรงตัว ด้านการส่งออกของจีนปีที่ผ่านมาส่งออกเหล็กรวม 75 ล้านตัน เฉพาะไตรมาสแรกปีนี้ส่งออก 15 ล้านตัน
ปีที่ผ่านมาสหรัฐนำเข้า 34.6 ล้านตัน เมื่อนำเข้ามากก็มองว่า กระทบกับความมั่นคงของชาติจึงไม่ปฎิบัติตามข้อตกลงองค์การการค้าโลก(ดับเบิ้ลยูทีโอ)ตามข้อตกลงการค้า ดังนั้น สหรัฐจึงประกาศใช้มาตรา 232 ขึ้นภาษีเหล็กนำเข้าเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศ โดยหวังให้ ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเหล็กในสหรัฐ ได้เพิ่มการใช้กำลังผลิตเพิ่ม โดยอุตสาหกรรมเหล็กในสหรัฐระบุว่า จะอยู่รอดได้ต้องใช้กำลังการผลิตร้อยละ 80 ทำให้ความต้องการเศษเหล็กของสหรัฐเพิ่มมากขึ้นตาม ส่งผลให้ราคาเศษเหล็กในต่างประเทศ น่าจะยังคงอยู่ในระดับสูง จากความต้องการจากสหรัฐฯ ตุรกีและอนุทวีปอินเดีย ราคาวัตถุดิบอื่น ๆ ก็มีแนวโน้มที่จะอยู่ในระดับสูงด้วย เนื่องจากสินค้าในตลาดมีไม่เพียงพอ ดังนั้น จึงคาดว่า ราคาเหล็กสำเร็จรูปจะไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก
ส่วนผลการดำเนินงานของบริษัท ทาทา สตีล (ประเทศไทย) สำหรับไตรมาสที่ 4 ของปีการเงิน 2561 สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2561 บริษัทมีปริมาณการขายในไตรมาสที่ 4 จำนวน 316,000 ตัน เปรียบเทียบกับปริมาณการขายในไตรมาสที่แล้วจำนวน 302,000 ตัน ความต้องการเหล็กเส้นในภูมิภาคโดยเฉพาะจากลูกค้าโครงการยังคงมีแนวโน้มชะลอตัวถึงแม้ว่าจะอยู่ในช่วงฤดูที่มีการก่อสร้างสูงที่สุดก็ตาม ส่วนหนึ่งของปริมาณการขายที่สูงขึ้นเป็นผลมาจากยอดขายที่ดีขึ้นของเหล็กลวดและการส่งออกที่เพิ่มมากขึ้น ยอดขายสุทธิในช่วงไตรมาส 4 ปีการเงิน 2561 เป็นจำนวน 6,110 ล้านบาท สูงขึ้นร้อยละ 6 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา และสูงขึ้นร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน
ราคาขายปรับตัวดีขึ้นสะท้อนถึงแนวโน้มของราคาวัตถุดิบที่เพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ผลกระทบของราคาที่สูงขึ้นยังไม่เพียงพอที่จะชดเชยการเพิ่มขึ้นของราคาเศษเหล็ก วัตถุดิบและวัสดุสิ้นเปลือง เช่น กราไฟต์อิเล็กโทรด และ ferro alloys ในส่วน EBITDA ของไตรมาสที่ 4 ปีการเงิน 2561 อยู่ที่ 270 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 43 จากไตรมาสที่ผ่านมา และร้อยละ 34 เมื่อเทียบกับปีก่อน – สำนักข่าวไทย