กรุงเทพ 23 เม.ย. – ก.พลังงาน เปิดทีโออาร์ยื่นประมูลแหล่งเอราวัณ – บงกช พรุ่งนี้ มั่นใจ เชฟรอน – มูบาดาลา – ปตท.สผ. ยื่นประมูล เงื่อนไขหลัก ราคาไม่แพง ผลิตต่อเนื่อง1,500 ล้าน ลบ.ฟุต/วัน โดยในส่วน โรงแยกก๊าซโรง 1 ปตท. ต้องลดกำลังผลิตหรือปรับกระบวนการรองรับก๊าซลดลง
นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานแถลงผลประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ครั้งที่ 2/2561 (ครั้งที่ 15) ซึ่งมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้รับทราบการดำเนินงานของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน ในการเปิดประมูลแหล่งก๊าซธรรมชาติ ที่กำลังจะสิ้นอายุสัมปทาน ในปี 2565 – 2566 (แหล่งเอราวัณและแหล่งบงกช) โดยให้ออกประกาศเชิญชวนผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมประมูล ในวันที่ 24 เมษายน 2561 ตามทีโออาร์การเปิดประมูลระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (Production Sharing Contract : PSC) โดยได้กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขหลักในการประมูลไว้ เช่น ผู้ยื่นต้องเคยผลิตก๊าซในทะเลไม่ต่ำกว่า100 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน
• ผู้ผลิตต้องผลิตขั้นต่ำ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ต่อเนื่องเป็นระยะเวลา10 ปี ในแปลงสำรวจหมายเลข G1/61 หรือแหล่งเอราวัณ ต้องมีทุนจดทะเบียน 4,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และต้องผลิตก๊าซธรรมชาติในปริมาณการผลิตขั้นต่ำ 700 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 10 ปี ในแปลงสำรวจหมายเลข G2/61 หรือบงกช โดยต้องมีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
• ผู้เข้าร่วมประมูลจะต้องเสนอราคาก๊าซธรรมชาติที่ไม่สูงไปกว่าราคาเฉลี่ยของราคาก๊าซธรรมชาติในปัจจุบัน ตามสูตรราคาที่กำหนดในเงื่อนไขการประมูลซึ่งปัจจุบันแหล่งเอราวัณ 165 บาท/ล้านบีทียู แหล่งบงกช 200 บาท/ล้านบีทียู
• ให้ผู้เข้าร่วมประมูลเสนอสัดส่วนการแบ่งกำไรให้แก่รัฐ ซึ่งจะต้องไม่ต่ำกว่า 50% และเสนอผลประโยชน์พิเศษต่าง ๆ เช่น โบนัสการลงนาม โบนัสการผลิต และผลประโยชน์พิเศษอื่นๆ
• ผู้เข้าร่วมประมูลจะต้องเสนอสัดส่วนการจ้างพนักงานไทยไม่ต่ำกว่า 80% ในสิ้นปีที่ 1 และไม่ต่ำกว่า 90% ในสิ้นปีที่ 5 ของการดำเนินงาน
“นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำเรื่องการจ้างงาน ซึ่งทั้งสองแหล่งมีการจ้างงานตรง 2 พันตำแหน่งและมีจ้างงานเกี่ยวเนื่องอีก 4 – 5 เท่า โดยหลักการประมูลเน้นว่าผลิตต่อเนื่องและค่าไฟฟ้าไม่แพง โดยก๊าซที่ลดลง จะกระทบต่อโรงแยกก๊าซปตท. ที่จะทำให้กำลังผลิตสูงสุดหายไปราว 200 ล้าน ลบ.ฟุตต่อวัน ทาง ปตท. ต้องปรับแผนผลิตหรือลดกำลังผลิต โดยเฉพาะโรงแยกก๊าซที่1 ที่ผลิตมานาน34 ปี” นายศิริ กล่าว
ทั้งนี้ แหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณและบงกช เป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติหลักของประเทศ โดยปัจจุบัน ทั้ง 2 แหล่ง มีกำลังการผลิตรวมอยู่ที่ 2,110 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน คิดเป็น 75% ของก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้ในอ่าวไทย สำหรับกลุ่มแหล่งเอราวัณมีปริมาณการผลิต 1,240 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งอยู่ภายใต้การดำเนินงานของบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ตามสัญญาสัมปทาน เลขที่ 1/2515/5 และเลขที่ 2/2515/6 ซึ่งจะสิ้นอายุสัมปทาน วันที่ 23 เมษายน 2565 ขณะที่กลุ่มแหล่งบงกชมีปริมาณการผลิต 870 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งอยู่ภายใต้การดำเนินงานของ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ตามสัญญาสัมปทาน เลขที่ 5/2515/9 โดยจะสิ้นอายุสัมปทาน วันที่ 23 เมษายน 2565 และสัญญาสัมปทาน เลขที่ 3/2515/7 และจะสิ้นอายุสัมปทาน วันที่ 7 มีนาคม 2566
นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ แล้วว่า มั่นใจจะมีผู้เข้าร่วมประมูลไม่ต่ำกว่า 3 รายได้แก่ เชฟรอน ,มูบาดาลาและเชฟรอนจะเข้าร่วมประมูลโดยในส่วนของ ปตท.สผ.จะเข้าร่วมประมูลทั้ง 2 แหล่ง โดยการคัดเลือกจะเป็นเป้าหมายเดิม สิ้นปี 2561รับทราบผู้ชนะและลงนามสัญญา กุมภาพันธ์2562 . – สำนักข่าวไทย