กทม. 12 มี.ค.-วันนี้ครบ 14 ปี การหายไปของทนายสมชาย นีละไพจิตร ซึ่งการดำเนินคดีดีเอสไอได้เเจ้งงดการสอบสวนเเล้ว ขณะที่ความคืบหน้าร่าง พ.ร.บ.ป้องกันเเละปราบปรามการทรมานเเละการกระทำให้บุคคลสูญหาย ยังอยู่ระหว่างการปรับเเก้
ดอกไม้สีขาวที่นางอังคณา นีละไพจิตร เเละบุตรสาว บรรจงตั้งข้างภาพวาดนายสมชาย นีละไพจิตร ซึ่งตั้งอยู่ใต้ต้นไม้ข้างถนน เพื่อรำลึกถึงการหายตัวไปหลังไม่ทราบชะตากรรม ไม่มีแม้ม้หลุมฝังศพให้รำลึก หวังให้ผู้พบเห็นได้ทบทวนถึงความยุติธรรมของประเทศ
ย้อนไป 14 ปีก่อน สองทุ่มของวันที่ 12 มีนาคม 2547 ริมถนนรามคำเเหง ทนายสมชายถูกอุ้มหายไป จนมาล่าสุดกลางปีที่แล้ว ดีเอสไอถามครอบครัวจะให้สอบใครเพิ่มเติมหรือไม่ ทั้งที่ไม่เคยเปิดเผยสำนวนคดี ซึ่งนางอังคณาย้ำว่าสิ่งสำคัญที่สุดในการคลี่คลายคดีอาชญากรรมด้วยเจ้าหน้าที่รัฐคือรัฐบาลต้องมีเจตนาไม่ปกป้องผู้กระทำความผิด
ความคืบหน้าร่าง พ.ร.บ.ป้องกันเเละปราบปรามการทรมานเเละการกระทำให้บุคคลสูญหาย หลังสภานิติบัญญัติไม่รับรอง กรมคุ้มครองสิทธิฯ นำมาปรับเเก้ ขณะนี้ร่างเสร็จเเล้ว อยู่ในกระบวนการรับฟังความเห็น ข้อดีของร่างคือให้อำนาจดีเอสไอสอบสวนคดีเเทนพนักงานสอบสวน เเละคดีอยู่ภายใต้ศาลอาญาคดีทุจริตเเละประพฤติมิชอบ ส่วนความกังวลคือคำนิยามไม่ชัดเจน เช่น คำว่าทรมานอย่างร้ายเเรง มาตรา 30 ถ้ากรณีอุ้มหายให้เอาผิดผู้บังคับบัญชาได้ เเต่ถ้าทรมานเอาผิดไม่ได้ ตัดเรื่องการห้ามส่งตัวต่างเเดนเเละข้ออ้างการทรมาน ซึ่งอาจเป็นช่องโหว่ทางกฎหมายได้
ด้านทนายความสะท้อนว่าเมื่อมีการอุ้มหายหรือซ้อมทรมานเกิดขึ้น หากญาติไปร้องเรียนก็อาจถูกดำเนินคดีเเจ้งความเท็จหรือหมิ่นประมาทเจ้าพนักงาน การต่อสู้เป็นไปได้ยาก มีกรรมวิธีทรมานหลายรูปแบบ หลายคดีสรุปเจ้าหน้าที่ไม่ผิด เพราะไม่มีหลักฐาน มองว่าบทบัญญัติในกฎหมายไม่ครอบคลุม จึงเป็นหน้าที่คณะกรรมการร่างฯ แนะเพิ่มสัดส่วนคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อแก้ปัญหาตรงจุด
หลังการรับฟังความคิดเห็นร่าง พ.ร.บ.กรมคุ้มครองสิทธิจะรวบรวมข้อเสนอแนะ ก่อนส่งคณะรัฐมนตรีพิจารณาได้ราวเดือนพฤษภาคม ซึ่งเหยื่อและญาติผู้เสียหายที่ถูกอุ้มหายและทรมานเกือบ 300 คน ยังกำลังรอฟังคำตอบจากกระบวนยุติธรรมของประเทศ .-สำนักข่าวไทย