23 ก.ค. – “ดิไอคอน” ยังไม่จบ DSI ลุยภาคต่อเร่งสอบผู้เสียหายในประเทศกว่า 300 ราย และผู้เสียหายในต่างประเทศอีก 10 ประเทศ เป็นความผิดนอกราชฯ ฐานฉ้อโกงประชาชนและร่วมกันฟอกเงิน
ตามที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้สอบสวนกรณี บริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป กระทำความผิดตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน เป็นคดีพิเศษที่ 119/2567 และได้ส่งสำนวนการสอบสวนมีความเห็นสั่งฟ้องบริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด กับพวกรวม 19 ราย ไปยังพนักงานอัยการแล้วเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2567 ในคดีดังกล่าวยังมีผู้เสียหายที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิดที่ลงทุนในต่างประเทศ 10 ประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 30 ราย และยังมีผู้เสียหายในประเทศที่ยังไม่ได้สอบสวนอีกกว่า 300 ราย ซึ่งอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษอนุมัติให้แยกสำนวนการสอบสวนซึ่งเป็นคดีต่อเนื่องเกี่ยวพันกับคดีพิเศษที่ 119/2567 ให้สอบสวนเป็นคดีพิเศษอีก 3 คดี ได้แก่ คดีพิเศษที่ 16/2568 ดำเนินคดีฐานความผิดฟอกเงิน คดีพิเศษที่ 17/2568 คดีนอกราชอาณาจักรฯ และคดีพิเศษที่ 18/2568 สำหรับผู้เสียหายในประเทศโดยมี ร.ต.อ.วิษณุ ฉิมตระกูล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวน และอัยการสูงสุดได้มีคำสั่งมอบหมายให้คณะพนักงานอัยการ สำนักงานการสอบสวน สำนักงานอัยการสูงสุดรวม 6 ราย นำโดย นายวัชรินทร์ ภาณุรัตน์ รองอธิบดีสำนักงานการสอบสวน สำนักงานอัยการสูงสุดเข้าร่วมสอบสวนคดีพิเศษดังกล่าว
วานนี้ (22 ก.ค.) ร.ต.อ.วิษณุ ได้เปิดเผยว่า กองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ ในฐานะฝ่ายเลขานุการ ได้จัดประชุมคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษและพนักงานอัยการร่วมสอบสวน โดยมีการวางแนวทางการสอบสวนผู้เสียหายที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิดที่ลงทุนในต่างประเทศ 10 ประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 30 ราย ซึ่งคณะพนักงานสอบสวนอยู่ระหว่างการประสานให้มีการสอบสวนผู้เสียหายผ่านกฎหมายพระราชบัญญัติ ความร่วมมือทางอาญาระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา พ.ศ.2535 ไปยังประเทศต่าง ๆ ได้แก่ ประเทศญี่ปุ่น ประเทศสวีเดน ประเทศออสเตรเลีย และประเทศอื่น ๆ ที่มีผู้เสียหายพำนักอยู่ รวมทั้งเร่งรัดวางแผนการสอบสวนพยานผู้เสียหายและตรวจสอบเส้นทางการเงินของบุคคลที่เกี่ยวข้องอีกจำนวนมาก และประสานงานกับสำนักงาน ปปง. ในการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินที่มีการอายัดภายใต้คดีพิเศษที่ 119/2567 และส่งมอบให้สำนักงาน ปปง.ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ก่อนหน้านี้ด้วย โดย นายวัชรินทร์ ภาณุรัตน์ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานการสอบสวน ได้ขอให้คณะพนักงานสอบสวนเร่งรัดในการรวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องโดยเร็ว หากการสอบสวนปรากฏพยานหลักฐานเชื่อมโยงไปถึงแม่ทีมที่เข้าข่ายเป็นผู้ร่วมกระทำความผิด ก็จะได้ร่วมกันพิจารณาดำเนินคดีต่อไป
สำหรับความคืบหน้าคดีพิเศษที่ 18/2568 พันตำรวจโท อานนท์ อุนทริจันทร์ ผู้อำนวยการกองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ ในฐานะฝ่ายเลขานุการ กล่าวถึงกรณีมีผู้เสียหายอีกหลายรายที่ยังไม่เคยแจ้งความร้องทุกข์ หรือ ไม่เคยดำเนินคดี ซึ่งคณะพนักงานสอบสวนได้ประกาศให้ผู้เสียหายร้องทุกข์และลงข้อมูลในระบบฐานข้อมูลคดีของกรมสอบสวนคดีพิเศษ นั้น ได้มอบหมายให้ นางสาวปริมณ์ สาริยา ผู้อำนวยการส่วนคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ 2 ส่งประเด็นการสอบสวนไปยังกองปฏิบัติการคดีพิเศษภาคเพื่อดำเนินการสอบปากคำ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการประหยัดเวลาและลดค่าใช้จ่ายของผู้เสียหายในการเดินทางมาให้ปากคำต่อพนักงานสอบสวนที่กรมสอบสวนคดีพิเศษซึ่งในทางสืบสวนพบหลักฐานการชักชวนที่เกี่ยวข้องกับบุคคลที่เข้าลักษณะเป็นแม่ทีมที่ชักชวนและได้รับผลประโยชน์เป็นจำนวนมากหากปรากฏพยานหลักฐานที่ชัดเจนก็จะประชุมมีมติ เรียกบุคคลเหล่านั้นมาแจ้งข้อกล่าวหาโดยกองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบจะแจ้งความคืบหน้าของการดำเนินการให้ประชาชนทราบเป็นระยะ.-119-สำนักข่าวไทย