สศช.4 ก.ย.-สศช.เผยไตรมาส 2 ปี 2560 การจ้างงานและค่าแรงเพิ่มสูง ในภาคเกษตร เด็กจบใหม่ว่างงานมากขึ้น ขณะเดียวกันพบคนไทยอายุยืนขึ้น แต่มีแนวโน้มเสียชีวิตด้วยโรคไม่ติดต่อและอุบัติเหตุมากขึ้น นอกจากนี้ยังพบป่วยโรคซึมเศร้าพุ่งสูง เสี่ยงฆ่าตัวตายวันละ 11 คน
นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยรายงานภาวะสังคมไทย ไตรมาสที่ 2 ปี 2560 พบว่า การจ้างงานโดยรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 ค่าจ้างและผลิตภาพแรงงาน สูงขึ้น จากภาคเกษตรกรรมที่ฟื้นตัวจ้างงานสูงสุดรวม 11.6 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.3 ในไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมา เนื่องจากสภาพอาการที่เอื้ออำนวย ปริมาณน้ำเข้าสู่ภาวะปกติ
ส่วนการจ้างงานนอกภาคเกษตรลดลงร้อยละ 2.1 มีการจ้างงานรวม 25.9 ล้านคน จากเดิม 26.4 ล้านคน ลดลงสูงสุดอยู่ที่ ภาคก่อสร้างร้อยละ 11.8 อุตสาหกรรม ร้อยละ 4.2 และโรงแรม ภัตตาคาร ร้อยละ 2.7 เหตุการลงทุนช่วงนี้ขยายตัวช้า และนำเทคโนโลยีมาใช้มากขึ้น
ขณะที่ความต้องการแรงงานด้านการผลิตลดลง การว่างงานเพิ่มขึ้นเล็ก น้อย ร้อยละ1.2 มีผู้ว่างงานทั้งสิ้น 0.47 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่เพิ่งเรียนจบและไม่เคยทำงานมาก่อน ซึ่งเป็นเรื่องปกติในช่วงนี้ คาดจะลดลงในไตรมาสที่ 4 ทั้งนี้ ในปี 2556-2559 ที่ผ่านมา พบ กลุ่มนี้ว่างงานแนวโน้มสูงขึ้น เพราะเรียนไม่ตรงกับความต้องการของตลาด และไม่อยากเข้าสู่ระบบแรงงาน
ส่วนประเด็นที่ต้องติดตามที่มีผลกระทบต่อการจ้างงาน เช่น แนวโนราคาสินค้าเกษตรที่อ่อนตัวลง ปัญหาอุทกภัย การพัฒนาทักษะแรงงาน ความปลอดภัยในการทำงาน รวมทั้งการแก้ไขกฎหมายคุ้มครองแรงงานที่โทษสูงขึ้น ขณะที่หนี้ครัวเรือน มีแนวโน้มชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากความสามารถในการชำระหนี้ดีขึ้น
สำหรับด้านสังคม พบแม้คนไทยอายุยืนยาว แต่มีแนวโน้มเสียชีวิตด้วยโรคไม่ติดต่อ เช่น โรคความดันโลหิตสูง มะเร็ง เบาหวาน และไตวาย รวมถึงอุบัติเหตุมากขึ้นและป่วยเป็นโรคซึมเศร้ามากขึ้นประมาณ 1.5 ล้านคนหรือร้อยละ 2.5 ของประชากรทั้งหมด โดยผู้หญิงมีความเสี่ยงมากกว่าผู้ชาย 1.7 เท่า และจากข้อมูลกรมสุขภาพจิต ปี 2559 เสี่ยงฆ่าตัวตายวันละ 11 คน หรือเฉลี่ยทุกๆ 2 ชั่วโมงจะตายสำเร็จ 1 คน โดยผู้ป่วยอายุ 15-19 ปีเสียงฆ่าตัวตายมากที่สุด ส่วนด้านไอคิวเด็กไทยเฉลี่ยสูงขึ้น แต่ยังต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานสากล ขณะที่อีคิวปกติดี
อย่างไรก็ตามสำหรับการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์และบุหรี่ลดลง ร้อยละ 1.0 และร้อยะล 0.8 ตามลำดับแต่ต้องเฝ้าระวังบุหรี่อิเล็คทรอนิกส์ในกลุ่มเด็กและเยาวชน ซึ่งมีสารนิโคตินสูงกว่าบุหรี่ธรรมดามากกว่า10 เท่าและอาจเป็นจุดตั้งต้นในการเสพติดบุหรี่หรือสารเสพติดประเภทอื่นๆ .-สำนักข่าวไทย