กทม. 24 ส.ค. – นับตั้งแต่เกิดคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งศาลจะนัดฟังคำพิพากษาวันพรุ่งนี้ (25 ส.ค.) มีชาวนาจำนวนไม่น้อยที่เดือดร้อนจากการยุติโครงการดังกล่าว เพราะปัจจัยการผลิตที่ขึ้นราคาไปแล้วไม่ได้ลดลงเหมือนกับราคาขายข้าว ขณะที่ชาวนาบางคนหันมาลดต้นทุนการผลิต ทำนาแบบพึ่งพาตัวเอง
แม้รู้ดีว่าข้าว 5 ไร่ ที่รอดพ้นจากน้ำท่วมจะขายได้เงินเพียงไม่กี่บาท แต่ “เดือนเพ็ญ หงษ์โต” ชาวนาสุพรรณบุรีก็ยังจ้างรถเกี่ยวมาเกี่ยวข้าวที่เหลือ หวังเป็นค่ากับข้าวให้ครอบครัว นอกจากปัญหาน้ำท่วมแล้ว เธอบอกว่าค่าเช่าที่นา ค่าปุ๋ย ค่ายา ที่เคยขึ้นราคาในช่วงที่มีโครงการรับจำนำข้าว ก็ไม่ได้ลดลงตามราคาข้าว ซึ่งตอนนี้อยู่ที่ตันละ 6,500-6,700 บาท แม้เธอจะประหยัดค่าแรง ลงมือทำนาเอง แต่ก็ยังขาดทุนอยู่ดี
ระหว่างที่ชาวนาส่วนใหญ่เฝ้ารอนโยบายแก้ปัญหาราคาข้าวจากรัฐบาล ก็มีชาวนาบางคนที่หันมาพึ่งพาตัวเอง เปลี่ยนวิถีการทำนา ลดต้นทุนการผลิตข้าว กระทั่งกลายเป็นชาวนาเงินล้าน
การฉีดฮอร์โมนไข่ที่หมักขึ้นเอง จากไข่ไก่ กากน้ำตาล ลูกแป้งข้าวหมาก และนมเปรี้ยว เพื่อเร่งให้ข้าวเม็ดเต่งเม็ดใส สมบูรณ์ขายได้ราคา เป็นหนึ่งในวิธีผลิตข้าวปลอดภัย ที่ “ชัยพร พรหมพันธุ์” เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ปี 2538 ทำมากว่า 28 ปี เขาลดต้นทุนการผลิต ลงมือทำนา 120 ไร่ ด้วยตัวเองทุกขั้นตอน ประหยัดค่าแรงได้หลายหมื่นบาท ประกอบรถไถนาเอง ประหยัดเงินไปกว่า 30,000 บาท และผลิตฮอร์โมนบำรุงต้นข้าว และใช้สมุนไพรควบคุมแมลง แทนสารเคมี ทำให้มีต้นทุนทำนาเพียงไร่ละ 2,000 บาท ต่างจากชาวนาทั่วไป ต้นทุนอยู่ที่ 5,000-6,000 บาทต่อไร่ ทุกวันนี้เขาจึงเป็นชาวนาเงินล้าน ไร้หนี้สิน ส่งลูกเรียนจบปริญญาโทถึง 3 คน และสามารถจ่ายเงินเดือนให้คนในบ้านได้ ไม่ต่างกับพนักงานบริษัททั่วไป ฉะนั้นไม่ว่ารัฐจะมีนโยบายรับจำนำข้าวหรือไม่ เขาก็ไม่เดือดร้อน
ขณะนี้มีชาวนาหลายรายในหลายจังหวัดเริ่มปรับตัว หันมาลดต้นทุน และผลิตข้าวปลอดภัย พวกเขามองว่าแนวทางนี้จะเป็นทางรอดที่สดใสมากขึ้น หากรัฐสนับสนุนให้มีตลาดเฉพาะสำหรับข้าวปลอดภัยที่ขายได้ราคาสูงกว่าข้าวเคมีทั่วไป เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ชาวนาหันมาทำนาแบบพึ่งพาตัวเอง. – สำนักข่าวไทย