23 พ.ค. – “อ.โอฬาร” ระบุ คดีจำนำข้าวจะยื่นตั้งหลักฐานใหม่ทำได้ แต่อยู่ที่ศาลพิจารณา ชี้ ต้องดูเหตุผลเงื่อนไข มองศาลให้น้ำหนักเรื่องการระบายแบบจีทูจี
รศ.ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยบูรพา ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวไทย กรณีทีมทนายความนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เตรียมยื่นหลักฐานใหม่เพื่อขอเปิดคดีรับจำนำเข้าใหม่ โดยจะนำเรื่องการขายข้าวในโครงการ เป็นหลักฐานใหม่ ว่า หากจะตั้งคดีใหม่ก็สามารถตั้งได้แต่ตั้งไปแล้วการจะยื่นเรื่องให้ศาลพิจารณาต้องดูว่าการตั้งใหม่บนเงื่อนไข เหตุผลและพยานหลักฐานอะไรใหม่ เพราะสิ่งที่ศาลพิพากษาคือเรื่องการ ละเลยกำกับดูแลในฐานะที่เป็นผู้รับผิดชอบสูงสุดในกระบวนการนโยบาย และการอ้างของทนายความนางสาวยิ่งลักษณ์ ว่า ได้มีการขายข้าวในโครงการไปแล้วและมีรายได้เพียงพอที่จะนำมาหักถอน แต่สิ่งที่ศาลพิจารณาให้น้ำหนักไปที่เรื่องการระบายข้าวแบบจีทูจี ซึ่งการขายข้าวมีปัญหาบางส่วนที่ไม่เป็นไปตามหลักการของการขายข้าวระหว่างรัฐต่อรัฐ ซึ่งจะนำมาสู่ความเสียหายและกระบวนการที่นำมาสู่ความเสียหายก็เกิดขึ้นกับบุคคลใกล้ชิดของรัฐบาลนั้น โดยหากดูตัวเลขการขายข้าวในช่วงรัฐบาลของนายเศรษฐาทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี จะเห็นว่าตัวเลขการขายข้าวเพียงพอสำหรับยอดที่ขายไป แต่ถ้าไปดูหลักการของศาลก็จะมีอีกมิติหนึ่ง ตนมองว่าหากจะยื่นตั้งคดีใหม่ก็ยืนได้ แต่ศาลจะรับไว้พิจารณาหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
รศ.ดร.โอฬาร ยังกล่าวว่า หากดูจากคำบรรยายของศาลเป็นการพิจารณาคดีจากสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว โดยมองว่าผู้นำรัฐบาลนั่นก็คือนายกรัฐมนตรีไม่ใช่แค่ผู้กำหนดนโยบายแต่ต้องเป็นผู้กำกับติดตามนโยบาย และเคยมีการท้วงติงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่ากรณีนี้อาจมีความไม่ชอบมาพากลขอให้นายกรัฐมนตรีนั้นติดตามกำกับดูแล แต่กลับปรากฏว่ามีการปล่อยให้กระบวนการจีทูจีเกิดขึ้น ซึ่งศาลพิจารณาว่ามีการปล่อยปละละเลยทำให้เกิดความเสียหายตรงนี้ตนมองว่าเป็นประเด็น เมื่อเป็นแบบนี้จึงไม่รู้ว่าจะเทียบเคียงได้หรือไม่กับการขายข้าวที่เหลือไปแล้ว จะนำเงินส่วนนั้นไปโปะ และนางสาวยิ่งลักษณ์ไม่ต้องจ่าย ศาลจะรับฟังหรือไม่ เพราะเป็นคนละเรื่องกัน ระหว่างการระบายข้าวกับการละเลย ณ เวลานั้น
เมื่อถามว่า หลายฝ่ายมีความกังวลว่าหลังจากนี้อาจไม่มีใครกล้าทำโครงการหรือนโยบายใหม่ รศ.ดร.โอฬาร ระบุว่า เรื่องนี้มองได้ 2 ส่วน โดยหลักการออกได้เป็นสิ่งที่ดี ออกแล้วต้องสามารถนำไปปฏิบัติให้ได้เป็นสิ่งที่ดี แต่ในทางปฏิบัตินั้นผู้รับผิดชอบปล่อยปละละเลยไม่ได้ การจะกำหนดอะไรก็ได้เป็นเรื่องของฝ่ายปฏิบัติการผู้กำกับต้องไปกำกับตลอดถือเป็นความรับผิดชอบไม่ใช่เป็นเพียงผู้กำกับรับผิดชอบทางการเมืองรอการอภิปรายไม่ไว้วางใจรอการถอดถอนแต่ในฐานะผู้นำต้องดูทั้งกระบวนการตั้งแต่กำหนดปฏิบัติประเมินผลนโยบายเหล่านั้นไม่ใช่แค่เป็นนายกจะกำหนดส่วนการปฏิบัติเป็นเรื่องของข้าราชการ แบบนี้ตนมองว่าไม่ค่อยถูกต้อง.-สำนักข่าวไทย