ชลบุรี 1 ก.ค. – ประมูลแหล่งเอราวัณ-บงกชช้ากว่าเป้าหมายเดิมอีก 1 เดือน เปิด ก.ย.นี้ จากเดิมคาดช้าสุด ส.ค. รู้ผลไตรมาส 1 ปีหน้า และเพื่อลดการนำเข้าแอลพีจี เตรียมปรับแผนนำก๊าซฯ เจดีเอ เข้าโรงแยกก๊าซ ระยอง และสร้าง FSRU แอลเอ็นจีป้อนโรงไฟฟ้าจะนะ
นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยในงานจัดสัมมนาสื่อมวลชนสัญจร ว่า การเปิดประมูลแหล่งเอราวัณและบงกชที่จะสิ้นสุดอายุสัมปทานปี 2565-2566 คาดว่าจะดำเนินการได้เดือนกันยายนนี้ แม้จะล่าช้ากว่าเป้าหมายเดิม คือ สิงหาคมไปเล็กน้อย แต่ก็รอบคอบที่สุด และคาดว่าจะคัดเลือกผู้ชนะการประมูลได้ภายในไตรมาส 1 ปี 2561 จากเดิมกำหนดภายในกุมภาพันธ์ 2561 ซึ่งขณะนี้มีทั้งรายเดิม คือ เชฟรอน , บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม หรือ ปตท.สผ.แล้ว ก็มีจีน และ ตะวันออกกลางมีความสนใจ และในฐานะที่ ปตท.สผ.เป็นบริษัทพลังงานที่รัฐถือหุ้นใหญ่ก็ควรจะเข้าร่วมประมูลทั้ง 2 แหล่ง โดยการดำเนินการรองรับการประมูลทางกรมฯ จะทยอยเสนอทั้งกฎหมายลูกที่เกี่ยวข้องและร่างทีโออาร์การประมูลต่อ ครม.
“ขณะนี้กรมฯ ทำทั้งเรื่องกฎหมายลูกที่เกี่ยวข้องและห้อง DATA ROOM ของแหล่งบงกช -เอราวัณ เพื่อให้ผู้ประมูลเข้ามาใช้ประโยชน์ รวมทั้งเดินหน้าวางแผนเกี่ยวกับแท่นผลิตปิโตรเลียมและแท่นผลิตกลางของปัจจุบัน 436 แปลงว่าจะรื้อถอน หรือไม่อย่างไร และรายใหม่หากไม่ต้องการให้รื้อถอนจะตกลงผลประโยชน์อย่างไรกับรายเดิม โดยทดลองใช้ 4 แท่นผลิตของเอราวัณในการรื้อถอนและประเมิน แต่ที่แน่ ๆ แท่นผลิตกลางคงไม่มีการรื้อถอน เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องของการผลิต ซึ่งเดิมนั้นเคยประเมินว่าการรื้อถอนจะใช้เงินนับแสนล้านบาท รื้อเสร็จอาจนำไปส่งโรงงานหลอมเหล็กหรือนำไปเป็นปะการรังเทียมก็อยู่ในระหว่างการพิจารณา” นายวีระศักดิ์ กล่าว
สำหรับขั้นตอนการเปิดประมูลว่าจะใช้รูปแบบใด ระหว่างระบบสัมปทาน ระบบแบ่งปันผลผลิต (เอสซี ) และระบบจ้างผลิต (พีเอสซี) นั้น ในอีก 2 สัปดาห์นี้ทางคณะกรรมการปิโตรเลียมที่มีปลัดกระทรวงพลังงาน จะพิจารณาตัดสินใจในหลักเกณฑ์และวิธีการกำหนดพื้นที่ที่จะดำเนินการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม โดย จะแบ่งเป็นรายภาค 5 ภาค ได้ แก่ ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แหล่งในทะเลอ่าวไทยและแหล่งทะเลอันดามัน โดยจะดูจากสถิติสำรวจและผลิต ครั้งที่ผ่านมาว่าภาคใดควรจะใช้วิธีใดก่อน เช่น หากแหล่งอ่าวไทยเลือกใช้ระบบสัมปทานก่อน ก็จะเปิดสัมทานในช่วงเวลาให้ยื่นที่เหมาะสม แต่หลังจากนั้น หากไม่มีเอกชนเข้ามาประมูลรูปแบบสัมปทาน ก็จะเปลี่ยนเป็นพีเอสซี หรือเอสซี ต่อไป ขณะเดียวกันหลักเกณฑ์นี้ก็จะใช้สำหรับการเปิดคัดเลือกเอกชนเสนอเงื่อนไขในรอบ 21 ซึ่งคาดว่าจะเปิดได้กลางปี 2561
“ยังตอบไม่ได้ว่าประมูลแหล่งบงกช-เอราวัณจะใช้รูปแบบใด ซึ่งคณะกรรมการปิโตรเลียมจะกำหนด หากอ่าวไทยเลือกเปิดแบบสัมปทาน ดังนั้น 2 แหล่งนี้ก็จะใช้แนวทางแบบสัมปทานก่อน” นายวีระศักดิ์ กล่าว
นายวีระศักดิ์ กล่าวว่า จากช่วงรอยต่อการเปิดประมูล ประกอบกับปริมาณก๊าซอ่าวไทย/เมียนมาร์ /เจดีเอ ลดลง ทำให้เดิมประเมินว่าจะเกิดวิกฤติก๊าซปี 2564-2566 ก๊าซจะหายประมาณ 1,700 ล้านลูกบาศ์ฟุตต่อวัน และต้องนำเข้าแอลเอ็นจีมาทดแทน รวมถึงต้องนำเข้าก๊าซแอลพีจีนับแสนตันต่อเดือน ซึ่งขณะนี้กระทรวงพลังงานกำลังปรับแผนพลังงานใหม่ทั้งหมด ก็คงจะทราบชัดเจนว่าผลกระทบเป็นอย่างไร เบื้องต้นกำลังพิจารณาว่าจะสร้างคลังนำเข้าแอลเอ็นจีแบบลอยน้ำ หรือ FSRU ในภาคใต้ เพื่อป้อนโรงไฟฟ้าจะนะ จังหวัดสงขลา แล้วนำก๊าซจากแหล่งพัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (เจดีเอ) บล็อก 18-A มาส่งยังโรงแยกก๊าซ ปตท.ที่ มาบตาพุด จังหวัดระยอง ซึ่งก๊าซส่วนนี้จะได้มูลค่าเพิ่มสูงกว่านำไปเผา โดยสามารถผลิตได้ทั้งแอลพีจีและป้อนโรงงานปิโตรเคมี ทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มที่สูงกว่าการเผาหรือนำไปผลิตไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว.- สำนักข่าวไทย