กรุงเทพฯ
12 ก.พ. – ก.พลังงานรอการตรวจร่างสัญญาแหล่ง “เอราวัณ-บงกช” จากสำนักงานอัยการสูงสุด
หากเสร็จเชื่อมั่นจะลงนามได้ตามกรอบเดิม ก.พ.นี้
นางเปรมฤทัย
วินัยแพทย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยความคืบหน้าการลงนามสัญญาการรับสิทธิ์ดำเนินกิจการระบบแบ่งปันผลผลิต
หรือพีเอสซี ในแปลงปิโตรเลียม “เอราวัณ-บงกช” ว่า ตามกรอบนโยบายของนายศิริ
จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน จะลงนามในสัญญากับผู้ชนะประมูล คือ
บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ปตท.สผ.) และพันธมิตรภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบสัญญาโดยสำนักอัยการสูงสุด
ซึ่งหากเสร็จคาดว่าจะน่าจะสามารถลงนามทันตามกรอบเดิมได้ ขณะที่การเปิดประมูลแหล่งปิโตรเลียมรอบใหม่ทั้งบกบนหรือในทะเลคงจะต้องรอรัฐบาลใหม่เข้ามาดำเนินการ
ซึ่งก็จะพิจารณาว่าจะเปิดในรอบเดียวกันทั้งหมด หรือแบ่งแยกเป็นรอบบนบกหรือรอบในทะเล
“แม้จะอยู่ในช่วงเตรียมการเลือกตั้ง
แต่การพิจารณาสัญญาก็เดินหน้าตามที่ได้ประมูลไว้แล้ว อย่างไรก็ตาม
ขั้นตอนการตรวจสัญญาต้องรออัยการสูงสุด ซึ่งทางกระทรวงฯ ไม่ได้เร่งรัดอะไร
เพราะต้องรอบคอบ โดยกรอบเดิมนั้นจะลงนามในสัญญาพีเอสซีฉบับแรกของไทยได้ภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้”
นางเปรมฤทัย กล่าว
สำหรับข้อตกลงสำคัญ
คือ ผู้รับสัมปทานรายใหม่จะต้องสามารถผลิตปิโตรเลียมทันทีในช่วงเปลี่ยนผ่าน
โดยยังคงรักษากำลังการผลิตก๊าซธรรมชาติในแปลงเอราวัณไว้ที่ 800
ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน หลังหมดสัญญาสัมปทานปี 2565 และแปลงบงกช อยู่ที่ 700 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน
หลังหมดสัญญาสัมปทานปี 2566 ดังนั้น ปตท.สผ.จำเป็นต้องลงทุนแท่นผลิต (แฟลตฟอร์ม) เตรียมพร้อมในการผลิตให้ต่อเนื่อง
นายพงศธร
ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท.สผ. เปิดเผยว่า
ปตท.ได้วางแผนผลิตเพื่อเริ่มดำเนินงานตามแผนงานต่าง ๆ เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ
โดยทั้ง 2 แหล่ง จะมีการลงทุนแทนขุดเจาะเพิ่ม การวางแท่นผลิต (แฟลตฟอร์ม) เพิ่มในช่วง
5 ปีแรก (ปี 2566-2570) ในส่วนของแหล่งบงกช ลงทุนประมาณ 400-450 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี
และแหล่งเอราวัณอยู่ที่ 600-650 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี หรือคิดเป็นในส่วนที่
ปตท.สผ.ถือหุ้นจะต้องลงทุน 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี หรือประมาณ 33,000 ล้านบาทต่อปี.-สำนักข่าวไทย