กรุงเทพฯ 24 เม.ย. – ปตท.สผ. แจ้งเข้าดำเนินการผลิตปิโตรเลียมภายใต้สัญญา PSC แรกของประเทศไทย เปลี่ยนผ่านจากสัมปทานแหล่ง “เอราวัณ-บงกช” ไม่สะดุด ส่วนปริมาณก๊าซ “เอราวัณ” ต่ำกว่าแผนครึ่งหนึ่ง”
เพจเฟซบุ๊ก PTTEP แจ้งว่า วันนี้ (24เม.ย.65) เป็นวันแรกที่บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ปตท.สผ.) ได้เข้าเป็นผู้ดำเนินการโครงการจี 1/61 (แหล่งเอราวัณ, ปลาทอง, สตูล, ฟูนาน) และโครงการจี 2/61 (แหล่งบงกช) ภายใต้สัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) เพื่อตอบภารกิจสำคัญในการเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ ซึ่ง ปตท.สผ. มุ่งมั่นปฏิบัติภารกิจนี้ด้วยความภาคภูมิใจมา 37 ปีแล้ว และจะทำหน้าที่ต่อไปอย่างเข้มแข็ง https://www.facebook.com/pttepplc/videos/315537957209222/
ด้านกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ แจ้งว่าการเปลี่ยนผ่านการดำเนินงานแหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณ (แปลง G1/61) และแหล่งก๊าซธรรมชาติบงกช (แปลง G2/61) ราบรื่น ก้าวสู่ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของวงการปิโตรเลียมจากระบบสัมปทาน 50 ปี สู่ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต และจะเร่งเดินหน้าการผลิตก๊าซธรรมชาติให้ได้ตามเป้าหมายโดยเร็วที่สุด
ทั้งนี้อัตราการส่งก๊าซธรรมชาติ ณ วันสิ้นสุดสัมปทานของกลุ่มเอราวัณอยู่ที่ 399 ล้านลูกบาศก์ฟุต ประกอบด้วย ก๊าซธรรมชาติจากโครงการ G1/61 จำนวน 376 ล้านลูกบาศก์ฟุต และแหล่งข้างเคียงที่ผลิตร่วมกัน จำนวน 23 ล้านลูกบาศก์ฟุต ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายที่กระทรวงพลังงานตั้งไว้ 800ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน โดยผู้รับสัมปทานรายเดิมมีบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด เป็นผู้ดำเนินการ
ส่วนอัตราการส่งก๊าซธรรมชาติ ณ วันสิ้นสุดสัมปทานของกลุ่มบงกชอยู่ที่ 938 ล้านลูกบาศก์ฟุต ประกอบด้วยก๊าซธรรมชาติจากโครงการ G2/61รวมแหล่งบงกชเหนือและแหล่งบงกชใต้ สูงกว่าเป้าหมายที่กระทรวงพลังงานตั้งไว้700ล้านลูกบาศก์ฟุต/วันโดยผู้รับสัมปทานรายเดิมมีปตท.สผ. เป็นผู้ดำเนินการ
นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยว่า การดำเนินงานช่วงเปลี่ยนผ่านของแหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณ (แปลง G1/61) และแหล่งก๊าซธรรมชาติบงกช (แปลง G2/61) เมื่อวันที่ 23-24 เมษายน 2565 ที่ผ่านมา เป็นไปอย่างราบรื่น โดยสามารถผลิตก๊าซธรรมชาติจากทั้ง 2 แปลง ได้อย่างต่อเนื่องมีการจัดตั้งวอร์รูม (War Room) เพื่อรองรับการบริหารจัดการสถานการณ์ฉุกเฉินในลักษณะบูรณาการ ร่วมกับผู้รับสัมปทานรายเดิมและผู้รับสัญญารายใหม่ และผู้รับซื้อปิโตรเลียม โดยมีผู้บริหารของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติบัญชาการที่ห้องวอร์รูม รวมทั้งมีทีมเฉพาะกิจภาคสนามจำนวน 8 ทีม คอยติดตาม ควบคุมสถานการณ์อย่างใกล้ชิดบนแท่นผลิตในทะเลอ่าวไทย โดยประจำที่แปลง G1/61 และแปลง G2/61 จำนวน 5 จุด และประจำในเรือกักเก็บปิโตรเลียมอีก 3 จุด เพื่อตรวจสอบปริมาณการผลิตปิโตรเลียมรอบสุดท้ายในช่วงเวลาก่อนหมดอายุสัมปทาน รวมทั้งวัดปริมาณปิโตรเลียมที่คงค้างในเรือกักเก็บของทุกแหล่ง ก่อนที่จะมีการส่งมอบให้กับผู้รับสัญญารายใหม่อย่างเป็นทางการ และ เตรียมความพร้อมโดยได้ตรวจติดตามสภาพความแข็งแรง ปลอดภัยของสิ่งติดตั้งและทรัพย์สินที่ใช้ในการประกอบกิจการปิโตรเลียมของทั้ง 2 แปลง รวมทั้งมีการปรับโครงสร้างหน่วยงาน และบรรจุบุคลากรเพิ่มเพื่อรองรับภารกิจดังกล่าวภายใต้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิตด้วย
ทั้งนีั.คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2561อนุมัติให้บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ร่วมกับ บริษัท เอ็มพี จี 2 (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ได้รับสิทธิ์เป็นผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิตแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G1/61 (แปลงเอราวัณ) และ บริษัท ปตท.สผ.เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด เป็นผู้ได้รับสิทธิเป็นผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิตแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G2/61 (แปลงบงกช) ระยะสัญญา 20+10 ปี .-สำนักข่าวไทย