กรุงเทพฯ 25 ก.พ. – สัญญาประวัติศาสตร์แหล่งปิโตรเลียม “บงกช-เอราวัณ” ภายใต้สัญญา PSC วงเงินลงทุน 1 ล้านล้านบาทลงนามแล้ว ปตท.สผ.คุยต้นทุนลดร้อยละ 20-25 ชาวบ้านค่าไฟฟ้าลดลง 15-20 สต./หน่วย ลุยเปิด PSC อ่าวไทย มิ.ย.นี้
นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการลงนามสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) สำหรับแปลงสำรวจปิโตรเลียมแหล่งเอราวัณกับบริษัท ปตท.สผ.เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ร่วมกับบริษัท เอ็มพี จี 2 (ประเทศไทย) จำกัด และ PSC สำหรับแหล่งบงกช กับบริษัทปตท.สผ.เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด วันนี้ (25ก.พ.) ว่า นับเป็นการลงนามครั้งประวัติศาสตร์ของประเทศ เพราะเป็น PSC สัญญาแรกของประเทศ เพราะแหล่งก๊าซฯ ทั้ง 2 แปลงได้ดำเนินการผลิตมาเป็นเวลาเกือบ 40 ปีภายใต้ระบบสัญญาสัมปทานที่จะสิ้นสุดอายุปี 2565-2566
การประมูลภายใต้ PSC ก่อให้เกิดความมั่นคงด้านพลังงาน เกิดประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจและประเทศ 650,000 ล้านบาทในระยะเวลา 10 ปี (ปี 2565-2574 ) แบ่งเป็นการลดราคาก๊าซฯ 550,000 ล้านบาท การจัดเก็บภาษีฯ ค่าสัมปทานและอื่น ๆ อีก 150,000 ล้านบาท โดยผู้ชนะประมูลเสนอส่วนลดราคาก๊าซธรรมชาติลงมาโดยราคาคงที่อยู่ที่ 116 บาทต่อล้านบีทียูตลอด 10 ปี ประโยชน์ดังกล่าวจะถูกส่งผ่านในรูปของการลดค่าไฟฟ้าลงมา 15-20 สตางค์ต่อหน่วย (หลังปี 2565) จากเดิมราคา 3.6 บาทต่อหน่วย จะเหลือ 3.4 บาทต่อหน่วย หรือคิดเป็นมูลค่า 200,000 ล้านบาท ,ลดราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) 0.50-1.0 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) รวมเป็นมูลค่าแสนล้านบาท, ประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมปิโตรเคมีในการมีวัตถุดิบผลิตต่อเนื่องมูลค่า 100,000 ล้านบาท, เพิ่มความมั่นคงด้านก๊าซหุงต้ม หรือแอลพีจี ทำให้มีเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง 1 บาทต่อ กก. คิดเป็นมูลค่า 100,000 ล้านบาท
นายศิริ กล่าวว่า ได้มอบให้กรมเชื้อเพลิงฯ เตรียมพร้อม เพื่อเปิดเชิญชวนให้เอกชนยื่นประมูลขอสิทธิ์สำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่สำหรับแปลงสำรวจในพื้นที่อ่าวไทยด้วยระบบ PSC ภายในเดือนมิถุนายนนี้ ซึ่งหลักเกณฑ์และเงื่อนไขจะใช้แบบเดียวกับที่เปิดประมูลแหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณและบงกช โดยเฉพาะการกำหนดให้ผู้เข้าร่วมประมูลต้องเสนอให้หน่วยงานรัฐเข้าไปถือหุ้นสัดส่วนร้อยละ 25 เป็นต้น
นางเปรมฤทัย วินัยแพทย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า กรมฯ จะติดตามใกล้ชิดเพื่อให้การผลิตช่วงรอยต่อที่จะสิ้นสุดสัญญากับรายเก่าไม่กระทบ ขณะเดียวกันต้องให้รายใหม่เข้าไปดำเนินการเพื่อเปลี่ยนผ่านหลังสิ้นสุดสัญญาเพื่อให้การผลิตก๊าซฯ เป็นไปตามกำหนดซึ่งทางผู้ชนะประมูลหลังจากนี้ 45 วันจะต้องส่งแผนการดำเนินงานในปีแรกมายังกรมฯ เพื่อที่จะร่วมดำเนินการใกล้ชิด ซึ่งจะต้องดำเนินการตามข้อกำหนดประมูล คือ หมดสัญญาจะต้องผลิตต่อเนื่องและกำหนดขั้นต่ำการผลิตรวมไว้ 1,500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน แบ่งเป็นเอราวัณ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จากปัจจุบัน 1,240 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และบงกช 700 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จากปัจจุบันผลิต 900 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน
นายพงศธร ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท.สผ. กล่าวว่า เม็ดเงินลงทุน ทั้ง 2 แหล่งคาดว่าประมาณ 1 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นค่าใช้จ่ายลงทุนประมาณ 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ที่เหลือเป็นค่าใช้จ่ายดำเนินงาน โดย ปตท.สผ.ไม่ต้องระดมทุนหรือกู้เงินเพิ่ม เพราะจะใช้จากกระแสเงินสด โดยขณะนี้มีกระแสเงินสดประมาณ 400,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และรายได้ผลการดำเนินการแต่ละปี
“การตั้งราคาก๊าซฯ ต่ำ เพื่อประโยชน์ของประชาชน แต่ไม่กระทบต่อผู้ถือหุ้น เพราะปริมาณก๊าซที่ผลิตเพิ่มขึ้น ทำให้ต้นทุนผลิตลดลงร้อยละ 20-25 ส่งผลให้กำไรทั้ง 2 โครงการไม่ลดลงแต่อย่างใด ซึ่งจากที่เป็นโครงการที่ผลิตแล้วก็ทำให้มีความเสี่ยงเรื่องการสำรวจไม่พบลดลงไป และที่สำคัญราคาก๊าซแม้คงที่ 116 บาท แต่ราคาขายจริงยังขึ้นกับราคาน้ำมัน อัตราเงินเฟ้อและอื่น ๆ คาดจะขายได้ประมาณ 4-5 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้านบีทียู” นายพงศธร กล่าว
นายพงศธร กล่าวว่า ในอนาคตคาดว่าจะเจรจาหาผู้ร่วมทุนเพิ่มเติมทั้งบงกช-เอราวัณ เพื่อให้มีผู้ร่วมทุนราว 3 รายต่อแหล่ง โดยตามข้อกำหนดของกรมเชื้อเพลิงฯ ระบุไว้ว่าจะสามารถหาผู้ร่วมทุนรายใหม่หลังเริ่มผลิตไปแล้ว 1 ปี นั่นก็คือประมาณปี 2566-2567 ขณะเดียวกันบริษัทก็ให้ความสนใจที่จะประมูลการเปิดแข่งขันพีเอสซีอ่าวไทยรอบใหม่ด้วย โดยมีความพร้อมที่จะแข่งขัน และปีนี้ บริษัทจะตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้าย (FID) 2 โครงการ คือ โครงการแอลจีเรีย ฮาสสิ เบอร์ราเคซ และโครงการโมซัมบิก โรวูมา ออฟชอร์ แอเรียวัน. -สำนักข่าวไทย