ถนนสามเสน 12 มิ.ย.- เนื่องในวันต่อต้านการใช้แรงงานเด็กโลก เครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน จัดเวทีเสวนา พบไทยยังมีการใช้แรงงานเด็กในภาคประมงและอุตสาหกรรมทะเล การแก้ปัญหาต้องส่งเสริมด้านการศึกษา ตามมติ ครม.ปี 2548 เด็กทุกคนมีสิทธิได้รับการศึกษาจนจบในระดับสูงสุด
นายสุรพงษ์ กองจันทึก รองประธานมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) เปิดการเสวนา”แรงงานเด็กในภาคประมงและอุตสาหกรรมอาหารทะเลยังมีอีกไหมในเมืองไทยและโจทย์ท้าทายการแก้ปัญหา” และกล่าวว่า วันนี้(12มิ.ย.)ถือเป็นวันต่อต้านการใช้แรงงานเด็กโลก มูลนิธิฯ จึงร่วมกับศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เครือข่ายความร่วมมือเพื่อความโปร่งใสในภาคการประมงและประมงต่อเนื่อง(MAST) และภาคีเครือข่าย จัดเสวนานี้ขึ้น เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดและหาออกร่วมกัน
จากสถิติ ปี 2559 พบแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ เข้ามารายงานตัวเพื่อขอใบอนุญาตทำงานรวม 1,067,410 คน เป็นผู้ติดตามอายุน้อยกว่า 18 ปี ประมาณ 22,807 คน ซึ่งมีความเสี่ยงและแนวโน้มเป็นแรงงานเด็กในกิจการต่างๆและยังพบเด็กนอกระบบไม่ได้ขึ้นทะเบียนอีกไม่ต่ำกว่า 1 แสนคน การป้องกันเด็กกลุ่มนี้ไม่ให้เข้าสู่กระบวนการใช้แรงงานเด็กได้อย่างไรถือเป็นเรื่องสำคัญเพราะอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กระบุเด็กตั้งแต่แรกเกิด จนถึง18 ปีต้องได้รับการคุ้มครองดูแลและพัฒนาสูงสุด ซึ่งการพัฒนาต้องไม่ใช่การทำงาน แต่คือการได้รับการศึกษา ซึ่งตามมติ ครม.ปี2548 ระบุเด็กทุกคนมีสิทธิได้รับการศึกษาจนจบในระดับสูงสุด
ด้าน น.ส.ดาหวัน ขอนทอง ผู้ประสานงาน LPN เปิดเผยว่า จากสำรวจจังหวัดในภาคตะวันออก เช่นตราด จันทบุรี ระยอง ชลบุรีและสมุทรปราการ เมื่อปี 2558 พบมีเด็กชาวกัมพูชาจำนวนมากยังคงทำงานในกิจการประมง เพราะเป็นงานใช้แรงไม่ต้องอาศัยทักษะการสื่อสาร และเมื่อสอบถามพบเป็นแรงงาน และจากการพูดคุยพวกเขาอยากเข้าเรียนแต่ไม่รู้ดำเนินการอย่างไร เพราะเข้าใจว่าเมื่อไม่มีเอกสาร แสดงสถานะและภาษา ไม่สามาถเข้าเรียนได้ ทำให้พวกเขาประสบปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ทะเลาะกับคนในชุมชน ได้รับบาดเจ็บ ทั้งที่อายุ เพียง 10 ปี และถูกละเมิดทางเพศ โดย 3 เดือนพบถูกละเมิด 3 คน ทางมูลนิธิฯ จึงทำความเข้าใจเรื่องการศึกษาในไทย ช่วยทำเอกสาร และล่ามแปลภาษา จนสามารถส่งเข้าสู่ระบบการศึกษา จำนวน 224 คน ในพื้นที่ จ.ระยอง และอำเภอคลองใหญ่ จ.ตราด และมูลนิธิสามารถดึงเด็กต่างด้าวออกจากพื้นที่การทำงาน เช่น โรงงาน มาเข้าเรียนของรัฐแล้วกว่า 2,564 คน
ขณะที่นายสมพงศ์ สระแก้ว ผู้อำนวยการ LPN กล่าวว่า แม้การทำงานด้านการศึกษาและการช่วยเหลือเด็กจะรุดหน้า แต่ยังพบว่ามีแรงงานเด็กแฝงอยู่อุตสาหกรรมเหล่านี้เพราะการพิสูจน์ว่าเด็กที่ทำงานอายุต่ำกว่า 18 ปีหรือไม่นั้น อาศัยการพิสูจน์หลักฐานที่เป็นเอกสารที่สามารถปลอมแปลงได้ ขณะที่จำนวนไม่น้อยยังไม่ได้เข้าเรียนหนังสือ เพราะความไม่เข้าใจของครอบครัว สังคมและโรงเรียน ดังนั้น การแก้ปัญหาที่ยั่งยืน นอกจากการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มแล้ว การสร้างความเข้าใจ แก่ครอบครัว สังคม นายจ้าง โดยเฉพาะโรงเรียนในพื้นที่ ให้มีทัศนคติที่ถูกต้อง เด็กทุกคนไม่ว่าสัญชาติไทยหรือสัญชาติอื่นต้องได้รับการศึกษา เชื่อปัญหาแรงงานเด็กในภาคประมงและกิจการอื่นๆ คงหมดไป .-สำนักข่าวไทย