26 เมษายน 2565
ตรวจสอบข้อเท็จจริงโดย: Factcheck.org / Science Feedback (สหรัฐอเมริกา)
แปลและเรียบเรียงบทความโดย: พีรพล อนุตรโสตถิ์, อดิศร สุขสมอรรถ
ประเภทข่าวปลอม: ทำให้เข้าใจผิด
บทสรุป:
1.การเสียชีวิตและอาการข้างเคียงจากวัคซีน Pfizer ที่เปิดเผยจาก FDA เป็นรายงานเบื้องต้นซึ่งยังไม่ยืนยันว่ามีสาเหตุจากวัคซีนหรือไม่
2.อาการข้างเคียงจากวัคซีน 1,291 รายการ เป็นรายชื่ออาการไม่พึงประสงค์ที่อาจจะเกิดจากการใช้วัคซีน ไม่ใช่อาการข้างเคียงหลังจากฉีดวัคซีนทั้งหมดตามที่กล่าวอ้าง
3.ความล่าช้าในการเปิดเผยข้อมูลของ FDA เนื่องจากมีเอกสารให้ตรวจสอบกว่า 329,000 หน้า FDA ไม่มีเจตนาปกปิดข้อมูล
ข้อมูลที่ถูกแชร์:
มีข้อมูลบิดเบือนเผยแพร่ทางสื่อสังคมออนไลน์ในสหรัฐอเมริกา โดยอ้างว่าองค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา (FDA) พยายามปกปิดปัญหาความปลอดภัยของวัคซีนโควิด 19 จากบริษัท Pfizer-BioNTech โดยข้อมูลบางส่วนที่เปิดเผยออกมา ระบุว่าวัคซีนโควิด 19 ของ Pfizer ทำให้ผู้รับวัคซีนเสียชีวิตถึง 1,223 คน และมีการระบุรายชื่ออาการข้างเคียงจากวัคซีนถึง 1,291 รายการ ทำให้กลุ่มต่อต้านวัคซีนนำประเด็นดังกล่าวไปโจมตีความปลอดภัยของวัคซีนอย่างแพร่หลาย
FACT CHECK: ตรวจสอบข้อเท็จจริง:
เมื่อองค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา (FDA) ให้การรับรองแบบเต็มรูปแบบแก่วัคซีนโควิด 19 ของบริษัท Pfizer-BioNTech ไปเมื่อวันที่ 23 สิงหาคมปี 2021 ข้อมูลการขึ้นทะเบียนชีววัตถุหรือ Biologics license application (BLA) ยังคงถูกเก็บเป็นความลับและไม่เปิดเผยต่อสาธารณชน จนกระทั่งศูนย์วิจัยและประเมินผลทางชีววิทยา (CBER) ของ FDA ได้นำข้อมูลส่วนหนึ่งมาเปิดเผยต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 มีนาคมปี 2022 ที่ผ่านมา
เนื้อหาที่นำมาเปิดเผย ได้แก่ข้อมูลด้านการตรวจสอบความปลอดภัยของวัคซีน Pfizer ในช่วง 3 เดือนแรกหลังวัคซีนได้รับการอนุมัติแบบฉุกเฉิน ซึ่งเป็นเอกสารจำนวน 38 หน้า และรายชื่ออาการไม่พึงประสงค์ที่ต้องเฝ้าระวังจากการใช้วัคซีน Pfizer จำนวน 9 หน้า
รายงานระบุว่า ในระหว่างเดือนธันวาคมปี 2020 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ปี 2021 มีรายงานอาการไม่พึงประสงค์จากผู้รับวัคซีน Pfizer ใน 63 ประเทศทั่วโลกจำนวน 42,086 ครั้ง และมีรายงานการเสียชีวิตหลังฉีดวัคซีน Pfizer ทั่วโลกจำนวน 1,223 ครั้ง โดยข้อมูลไม่ได้ระบุว่า ยอดการฉีดวัคซีนทั้งหมดเป็นจำนวนเท่าใด
การเปิดเผยดังกล่าว ส่งผลให้กลุ่มต่อต้านวัคซีน ทั้งองค์กร Children’s Health Defense ของ โรเบิร์ต เอฟ เคนเนดี้, ยูทูเบอร์ จอห์น แคมป์เบล, ผู้ประกาศข่าว ลิซ เวลเลอร์ รวมถึงหนังสือพิมพ์และสื่อออนไลน์ที่มีแนวคิดต่อต้านวัคซีน นำประเด็นดังกล่าวไปโจมตีความปลอดภัยของวัคซีนโควิด 19 ของ Pfizer อย่างแพร่หลาย
อย่างไรก็ดี เอกสารดังกล่าวไม่อาจใช้เป็นข้อมูลโจมตีความปลอดภัยของวัคซีนได้ เนื่องจากข้อมูลนำมาจากระบบรายงานเหตุการณ์อันไม่พึงประสงค์จากวัคซีนในประเทศต่างๆ เช่น VAERS ของสหรัฐอเมริกา และ Yellow Card Scheme ของสหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นรายงานอาการไม่พึงประสงค์เบื้องต้น ที่ยังไม่อาจพิสูจน์ได้ว่าการเสียชีวิตหรืออาการไม่พึงประสงค์เป็นผลจากวัคซีนโดยตรงหรือไม่
ยังมีการอ้างว่า อาการข้างเคียงจากวัคซีนจำนวน 1,291 รายการ ที่ระบุเอาไว้ในเอกสารแบบเรียงตามตัวอักษร คือเหตุผลให้เชื่อว่าวัคซีนโควิด 19 ของ Pfizer ไม่มีความปลอดภัย แต่ ดร.พอล เบนนิงเจอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการประเมินเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัย Tufts University ชี้แจงว่า รายการดังกล่าวเป็นรายชื่ออาการไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดจากการใช้วัคซีน ซึ่งทาง Pfizer เฝ้าติดตามและให้ความสนใจเป็นพิเศษ ไม่ใช่อาการข้างเคียงหลังจากฉีดวัคซีนทั้งหมดตามที่กล่าวอ้าง ดร.พอล เบนนิงเจอร์ยังให้ความเห็นว่า รายงานอาการข้างเคียงจะต้องนำเสนอในรูปแบบของบทความวิเคราะห์ ไม่ใช่การนำเสนอข้อมูลแบบเรียงรายชื่อตามตัวอักษรเช่นนี้
ส่วนข้ออ้างที่ว่าองค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา (FDA) พยายามปกปิดปัญหาด้านความปลอดภัยของวัคซีนโควิด 19 บริษัท Pfizer-BioNTech ก็ไม่เป็นความจริง เพราะความล่าช้าในการเปิดเผยข้อมูลมาจากความไม่พร้อมของ FDA ในการรับมือกับข้อมูลจำนวนมหาศาลของบริษัท Pfizer จนถูก Public Health and Medical Professionals for Transparency Documents (PHMPT) หน่ายงานที่ตรวจสอบความโปร่งใสของบุคลากรและหน่วยงานด้านสาธารณสุข ทำการกดดันให้ FDA เร่งเปิดเผยข้อมูลของวัคซีนแก่สาธารณชน
PHMPT อ้างกฎหมายเสรีภาพด้านข้อมูลข่าวสาร (FOIA) เพื่อเรียกร้องให้ FDA เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีนโควิด 19 จากบริษัท Pfizer-BioNTech ต่อสาธารณชนทั้งหมด หลังจาก FDA ให้การรับรองแบบเต็มรูปแบบกับวัคซีนของ Pfizer ได้เพียง 4 วัน
แต่การที่เอกสารทั้งหมดมีจำนวนรวมกันกว่า 329,000 หน้า จึงต้องใช้เวลาอย่างมากในการตรวจสอบแก้ไขข้อมูลเพื่อการนำเสนอต่อสาธารณชน โดย PHMPT เรียกร้องให้ FDA เปิดเผยเอกสารจำนวน 80,000 หน้าต่อเดือน แต่ทาง FDA ยืนยันว่าสามารถเปิดเผยเอกสารได้เพียง 500 หน้าต่อเดือน เนื่องจากมีพนักงานตรวจสอบไม่เพียงพอ และยังต้องแบ่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบเอกสารอื่นๆ อีกด้วย
PHMPT ประเมินว่า หาก FDA เปิดเผยเอกสาร 500 หน้าต่อเดือน จำเป็นต้องใช้เวลาถึง 55 ปีกว่าเอกสารทั้งหมดจะเผยแพร่สู่สาธารณชนอย่างสมบูรณ์ PHMPT จึงตัดสินใจยืนคำร้องต่อศาลของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ เมื่อเดือนกันยายนปี 2021
โดยวันที่ 6 มกราคมปี 2022 ศาลในเขตนอร์ธ เท็กซัส พิจารณาว่า แม้การเปิดเผยข้อมูลทั้งหมดในเวลาอันสั้นจะเป็นภาระที่ยากลำบาก แต่ข้อมูลเหล่านี้มีความสำคัญต่อสาธารณชนอย่างยิ่งยวด จึงมีคำสั่งให้ FDA เปิดเผยเอกสารเป็นงวดๆ เดือนละ 55,000 หน้า ซึ่งคาดว่าเอกสารทั้งหมดจะได้รับการเปิดเผยต่อสาธารณชนในช่วงฤดูร้อนที่จะถึงนี้
ดร.พอล เบนนิงเจอร์ วิจารณ์ท่าทีของ FDA ว่าทำตัวอยู่เหนือความขัดแย้งท่ามกลางกระแสกดดันของกลุ่มต่อต้านวัคซีนโควิด 19 และคิดว่า FDA ควรมีแนวทางดำเนินงานที่เน้นความโปร่งใสขององค์กรมากกว่านี้
ทันทีที่ PHMPT นำข้อมูลวัคซีนโควิด 19 ของ Pfizer จาก FDA ไปโพสต์ทางเว็บไซต์ ก็มีการนำข้อมูลดังกล่าวไปบิดเบือนกลายเป็นข่าวปลอมที่เผยแพร่ทางโลกออนไลน์ในเวลาต่อมาอย่างแพร่หลาย
แม้ PHMPT จะได้ชื่อว่าเป็นหน่วยงานที่ประกอบไปด้วยผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์จากหลายวงการ แต่สมาชิกบางรายก็ได้รับการจับตาเรื่องการเผยแพร่ข่าวปลอมเกี่ยวกับวัคซีนโควิด 19 อย่างต่อเนื่อง ทั้ง ดร.ไรอัน โคล นักพยาธิวิทยาผู้อ้างโดยไม่มีหลักฐานยืนยันว่าวัคซีนโควิด 19 ทำให้ป่วยเป็นมะเร็ง และ ดร.สเตลลา อิมมานูเอล ผู้สนับสนุนการใช้ยา Hydroxychloroquine รักษาผู้ป่วยโควิด 19 ก็เคยอ้างว่ามียาบางชนิดผลิตจาก DNA ของมนุษย์ต่างดาว
ข้อมูลอ้างอิง:
https://www.factcheck.org/2022/03/scicheck-posts-misinterpret-pfizer-covid-19-vaccine-safety-monitoring-document/
https://healthfeedback.org/claimreview/pfizers-confidential-document-shows-adverse-events-reported-following-vaccination-it-doesnt-demonstrate-vaccine-caused-events-or-is-unsafe/
- หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
- LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
- FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
- Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
- IG :: https://instagram.com/SureAndShare
- Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
- TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter