กรุงเทพฯ 25 เม.ย. – หน่วยงานวิจัยทั้ง “กสิกรไทย –ไทยพาณิชย์ -กรุงไทย” ประเมินปีนี้ ส่งออก หดตัว เหตุปัญหาภาษีตอบโต้ของ “โดนัลด์ ทรัมป์” ประธานาธิบดีสหรัฐ
จากที่กระทรวงพาณิชย์แถลงวานนี้ เดือน มี.ค.68 ไทยส่งออกมูลค่า 29,548.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 17.8% ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 เติบโตสูงสุดในรอบ 36 เดือน นับจาก เม.ย.2565 และมูลค่าทำสถิติสูงสุดเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การส่งออกของไทย ส่งผลการส่งออก 3 เดือน ของปี 2568 (ม.ค.-มี.ค.) มีมูลค่า 81,532.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 15.2% เกินดุลการค้า 1,081 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุการส่งออกไทย เดือน มี.ค.68 ขยายตัวสูงสุดในรอบ 3 ปี จากการเร่งนำเข้าสินค้า ส่งออกไทย ไปตลาดหลักเติบโตทุกตลาด โดยเฉพาะการส่งออกคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ ในขณะที่ไตรมาสที่ 2/2568 การส่งออกไทยคาดว่าจะยังขยายตัวเป็นบวกแต่ชะลอลงจากไตรมาสแรกอย่างมีนัยสำคัญ จากการเร่งส่งออกไปในช่วงก่อนหน้าและปัจจัยฐาน ขณะที่ครึ่งปีหลังคาดอาจหดตัว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงคาดการณ์ปรับลดประมาณการส่งออกไทยในปี 2568 หดตัว 0.5% จากก่อนหน้าที่คาดว่าอาจขยายตัว 2.5% โดยยังขึ้นอยู่กับผลการเจรจาของรัฐบาลกับสหรัฐฯ

ด้าน SCB EIC ประเมินว่าการส่งออกไทยในช่วงครึ่งหลังของปีจะเผชิญปัจจัยกดดันและความไม่แน่นอนที่รุนแรงมากขึ้น มูลค่าการส่งออกในช่วงครึ่งหลังของปีจะหดตัวรุนแรง โดยเฉพาะไตรมาสสุดท้าย ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกทั้งปีเสี่ยงหดตัว 0.4% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 1.6% (ตัวเลขระบบดุลการชำระเงิน, มุมมอง ณ มี.ค. 2025) สาเหตุหลักมาจาก
- อัตราภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal tariff) ของสหรัฐฯ สูงและกระทบเป็นวงกว้างกว่าที่เคยคาดไว้ ในช่วงต้นปี SCB EIC ประเมินว่านโยบายกีดกันการค้าของสหรัฐฯ จะไม่สุดโต่งมากนัก อัตราภาษีนำเข้าตอบโต้ของสหรัฐฯ อาจจะไม่สูงมากและมีแนวโน้มส่งผลกระทบอย่างจำกัด โดยอัตราภาษีนำเข้าที่แท้จริง (Effective Tariff Rate : ETR) ของสหรัฐฯ อาจเพิ่มขึ้นราว 11.3% อย่างไรก็ดี หากสหรัฐฯ บังคับใช้มาตรการภาษีนำเข้าทั้งหมดที่ประกาศไว้ จะมีผลทำให้ ETR ของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นมากกว่า 20% สูงกว่าที่ประเมินไว้เกือบเท่าตัว
- นโยบายภาษีตอบโต้ของทรัมป์จะกดดันให้เศรษฐกิจโลกและการค้าโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลงมาก SCB EIC ประเมินว่าเศรษฐกิจโลกปีนี้จะมีแนวโน้มเติบโตเพียง 2.2% (เทียบ 2.7% และ 2.8% ในปี 2024 และ 2023) และโลกมีความเสี่ยงราว 35 – 50% ที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) นอกจากนี้ ปริมาณการค้าโลกมีแนวโน้มชะลอลงรุนแรงเช่นกัน องค์การการค้าโลก (WTO) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ปรับลดประมาณการปริมาณการค้าโลกปี 2025 ลงจากการประเมินครั้งก่อนเหลือ -0.2 % และ 1.7% (เดิม 2.7% และ 3.2% ตามลำดับ)
- ไทยมีแนวโน้มได้รับผลกระทบทางตรงสูง เนื่องจากพึ่งตลาดสหรัฐฯ และเสี่ยงอัตราภาษีนำเข้าตอบโต้สูง โดยสหรัฐฯ นับเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย คิดเป็นสัดส่วน 18.3% ของการส่งออกไทยทั้งหมดในปี 2024 เพิ่มขึ้นมากจาก 12.7% ในปี 2019 หรือมีสัดส่วน 10% ของ GDP ซึ่งค่อนข้างสูง นอกจากนี้ ไทยอาจโดนภาษีนำเข้าตอบโต้จากสหรัฐฯ สูงถึง 36% สูงกว่าอัตราค่าเฉลี่ยทั่วโลก เอเชีย และอาเซียนที่ 17% 23% และ 33% ตามลำดับ
นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ตัวเลขส่งออกเดือน มี.ค.ออกมาสูงสุดประวัติการณ์ สะท้อนการเร่งส่งออกจากการเร่งสั่งสินค้าจากความกังวลนโยบายการขึ้นกำแพงภาษีทรัมป์ และจากกรณีที่ทรัมป์ มีการชะลอการเก็บภาษีนำเข้ากับทุกประเทศเป็น 90 วัน นับตั้งแต่ เม.ย.เป็นต้นไป มองว่าจะมีส่วนหนุนใหม่การส่งออกกลับมาเร่งขึ้นอีกครั้งในช่วง เม.ย.จนถึงไตรมาส 3 ปีนี้ แต่อาจเป็นเพียงปัจจัยชั่วคราว แต่หลังจากไตรมาส 3 เป็นต้นไป ส่งออกอาจกลับมาหดตัวแรงได้ ดังนั้นมีโอกาสสูงที่จะเห็นตัวเลขส่งออกติดลบปีนี้ จากเดิมที่คาดการณ์ว่าจะกลับมาเป็นบวก. -511- สำนักข่าวไทย